เรื่องเล่าของสาววิศวะ : ก้าวแรกในรั้วสถาบัน

สถาบันที่ฉันติดโควต้าเข้ามาเรียนได้  (ขอใช้ชื่อว่าสถาบัน เพราะสถานที่ที่ฉันเรียนยังไม่ถูกเปลี่ยนเป็นมหาวิทยาลัย) อยู่ติดปลายนวมกรุงเทพ บางคนว่ากันดาร อยู่กลางท้องทุ่งนา ฉันขอเถียงสุดใจขาดดิ้น เพราะความจริงแล้วนั้น สถาบันของเรามีการคมนาคมที่ยอดเยี่ยมที่สุดในประเทศไทยแล้ว นอกจากขับรถส่วนตัว ยังสามารถนั่งรถตู้ รถเมล์ Airport link หรือจะนั่งเครื่องบินมาลงที่สุวรรณภูมิแล้วนั่งสองแถวต่อมาอีกนิดก็ยังได้ และที่เจ๋งที่สุดคือมีรถไฟผ่ากลางสถาบัน ยังจำความรู้สึกที่ใส่เสื้อช็อปสะพายเป้ยืนห้อยโหนอยู่ตรงทางขั้นรถไฟได้ (เพราะรถไฟมันฟรี คนเลยขึ้นเยอะจนเบียดเข้าไปไม่ได้) ตอนนั้นรู้สึกตัวเองเท่ชะมัด (คิดไปเองทั้งนั้น)

เนื่องจากสถาบันที่ฉันเรียน อยู่ไกลจากบ้านของฉันร้อยกว่ากิโล ใช้เวลาขับรถไปกลับประมาณชั่วโมงกว่าๆถ้ารถไม่ติด แต่จะให้ไปกลับทุกวันมันก็ไม่ไหว พ่อแม่จะตัดใจ ถีบส่ง เอ้ย อนุญาตให้ฉันไปเช่าหออยู่ใกล้ๆสถาบัน

ตอนแรกฉันอยากไปเช่าพักอยู่หอใน (คือหอที่อยู่ในรั้วสถาบัน โดยสถาบันเป็นเจ้าของ ให้นักศึกษาเช่าในราคาย่อมเยาว์) แต่รุ่นพี่ที่รู้จักบอกว่า เพราะจำนวนห้องมีจำกัด ส่วนใหญ่เลยสงวนไว้ให้เด็กบ้านไกล ลำบากที่จะมาดูหอ บ้านเรามันแค่ปริมนฑล ทางสถาบันมองว่ายังมีปัญญาขับรถมาหาหอนอกเอาเอง ไม่ได้ลำบากมากนัก

ก่อนเปิดเรียน 1 เดือน แม่ขับรถพาฉันมาหาหอพัก โดยมีรุ่นพี่ที่รู้จักตอนเข้าค่ายช่วยหาอีกแรง (ยังซึ้งพระคุณพี่คนนั้นมาถึงทุกวันนี้) จนในที่สุดก็ได้ห้องพักที่หอหญิงล้วน อยู่หลังคณะวิศวะพอดี ห้องพัดลม ที่เลือกหอนี้เพราะปลอดภัย ราคาย่อมเยาว์ ห้องก็สะอาดกว้างขวางดี และเจ้าของหอก็น่ารัก แต่สิ่งที่ไม่ชอบใจอย่างหนึ่งคือ ถัดไปอีกนิดเดียวมีร้านเหล้ามาเปิดใกล้กับหอพักนักศึกษาเหล่านี้เต็มไปหมด ประมาณว่าเดินไปอีกไม่ถึง 10 ก้าวก็เป็นแหล่งร้านเหล้าแล้ว เข้าใจว่าเรื่องแบบนี้มันขึ้นอยู่กับตัวบุคคล แต่สิ่งยั่วยุมันมาอยู่ข้างหน้าซะขนาดนั้น มันก็เป๋ได้ง่ายๆเหมือนกัน แถมยังอันตรายกับนักศึกษาแถวนั้นอีก เวลาฉันออกมาวิ่งตอนเช้าๆมักจะเจอคนเมาเดินเป๋กันมาเป็นกลุ่มหรือไม่ก็นั่งมึนอยู่หน้าเซเว่น ประเมินจากสายตาที่มองมารู้สึกไม่ปลอดภัยในชีวิต จากที่อยากให้น้องชายเข้าที่นี่สุดชีวิตเลยต้องมาคิดกันใหม่

คืนแรกที่อยู่หอ รู้สึกเลยว่า ร้อนมากกกกจากคนที่ไม่เคยนอนพัดลมมาก่อนต้องมานอนเหงื่อไหลบนที่นอนแข็งๆท่ามกลางเสียงเครื่องบินและรถไฟ ตอนนั้นรู้สึกได้เลยว่า พ่อแม่ฉันเลี้ยงดูอย่างดี ให้มีชีวิตที่สุขสบายมาตลอด แต่ฉันคิดว่าจะรักสบายแบบนี้ตลอดไปคงแย่ เลยตั้งใจปรับตัวเองโดยไปซื้อพัดลมแบบตั้งพื้น กับแป้งเย็นตรางูมา 1 กระป๋อง ทาทวารทั้ง 5 ก่อนนอน หลับสบายมากกก เสียงเครื่องบินและรถไฟกลายเป็นทำนองเสนาะ ไม่ได้ยินแล้วนอนไม่หลับ

วันมอบตัว ความรู้สึกที่ฉันจำได้ยามก้าวเข้าห้องประชุมก็คือ ทำไมผู้ชายในโลกนี้มันเยอะขนาดนี้ มันมากระจุกรวมตัวกันอยู่ที่นี่ใช่ม๊ายยยย ด้วยความที่อยู่หญิงล้วนมาก่อน ต้องขอบอกกันตรงๆว่า เวลาสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าผู้ชายมารวมตัวกันเยอะๆแล้ว กลิ่นนั้นไม่ธรรมดาเลย ไม่รู้ว่าฟิโรโมนหรือกลิ่นขี้ไคลกันแน่ ตอนเช้าได้อาบน้ำกันหรือเปล่าไม่แน่ใจ ตอนเดินไปยื่นหลักฐาน จ่ายเงิน ถ่ายรูป ฉันต้องเดินหลบไม่ให้ชนอยู่ตลอดเวลา ก็คนมันไม่ชิน

ระบบของที่นี่คือจะเรียงรหัสตามตัวอักษรของชื่อ รหัสใกล้เคียงก็จะมีคนชื่อขึ้นต้นด้วยเจนเยอะไปหมด เจนวิทย์ เจนภพ เจนยุทธ์ เจนรจิต เจนสกาว เจนจิรา สุดแต่จะตั้งกัน เวลาเรียนเจนทีนึง จะหันขวับมาเป็นขบวน หลายคนจึงได้ชื่อใหม่ที่เพื่อนตั้งให้โดยปริยาย จะมีการจัดเป็นห้องๆ ห้องๆละร้อยกว่าคนซึ่งในปีแรกจะเรียนรวมกัน ทำกิจกรรมด้วยกันแม้ว่าจะอยู่คนละภาคก็ตาม ทำให้สนิทกันมาก กลุ่มของฉัน ดูเผินๆอาจคิดว่าผู้ชายล้วน เป็นความรู้สึกที่แปลกใหม่มากที่เพื่อนสนิทเกือบทั้งหมดเป็นผู้ชายหรือผู้หญิงนิสัยผู้ชาย ข้อดีที่ฉันชอบมากคือพวกนี้จะไม่คิดเล็กคิดน้อย (จริงๆแล้วมันไม่คิดอะไรเลย) ไม่มีการอิจฉาริษยา ใส่ร้าย ป้ายสี (บางคนก็เป็นแต่ส่วนน้อย) พึ่งพาได้ (เช่นให้เดินกลับไปส่งที่หอหรือยกของหนักๆ) และบางคนก็ตลก อยู่ด้วยแล้วสบายใจ อีกอย่างคือเพื่อนที่นี่จะติดดินมากๆ บางคนก็พูดเหน่อ น่ารักดี ให้ความรู้สึกจริงใจ ไม่ค่อยมีเล่ห์เหลี่ยม

สำหรับน้องใหม่ สิ่งที่ขาดไปไม่ได้ นั่นคือการประชุมเชียร์ เชียร์ที่นี่จะเน้นเรื่องการปลูกฝังระเบียบวินัย เข้าประชุมตรงต่อเวลา แต่งกายถูกระเบียบ ห้ามทำสีผม เซ็กซี่ นุ่งสั้น (แต่การใส่กระโปรงทรงสอบคลุมเข่าเป็นอะไรที่ลำบากมากเวลาจะข้ามทางรถไฟ) สอนเรื่องความสามัคคี ต้องช่วยกันร้องเพลง ปรบมือให้พร้อมกัน และที่ชอบมากคือสอนเรื่องความเป็นสุภาพบุรุษ พี่ให้จะผู้ชายนั่งสลับกับผู้หญิงเพราะจะได้ช่วยเหลือทันเผื่อเพื่อนเป็นลม และให้เดินไปส่งเพื่อนผู้หญิงที่หอพักเมื่อประชุมเชียร์เสร็จ พี่ว๊ากส่วนใหญ่เคราครึ้ม น่าดุ และไม่เคยเดินเจอในสถาบัน มีข่าวลือว่าเขาไปจ้างวินมอเตอร์ไซค์กับคนงานก่อสร้างแถวนั้นมาเป็นพี่ว๊ากจนพวกเรากลัวหัวหด พอเชียร์จบ โกนหนวดเคราทิ้งแล้วหน้าใสปิ๊งกันเป็นแถบ แหม แต่ก็เชื่อไปได้

แม้จะมาอยู่หอคนเดียว ช่วงเวลารู้สึกเหงานั้นน้อยมาก เพราะมีสิ่งที่เรียกว่า ชมรมและห้องแล็ป ชมรมนั้นก็มีมากมายให้เลือกสรรตามความชอบ ไม่ว่าจะเป็น คอม หุ่นยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ วิ่ง แบดมินตัน ฟุตบอล ร้องเพลง แสดงละคร ถ่ายรูป พุทธศาสนา ฯลฯ ส่วนห้องแล็ปก็จะอยู่ตามภาควิชาไป (จะกล่าวถึงใน post ถัดๆไป แต่ตอนนี้ขอเน้นไปที่ชมรม) เราสามารถอยู่ได้หลายๆชมรมแล้วแต่สมัครใจ ส่วนกิจกรรมในชมรมก็มีตั้งแต่ทำค่ายยันเล่นไพ่ เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ อีกทั้งยังสามารถมาปรึกษาปัญหาชีวิตและการเรียนกับรุ่นพี่ในชมรมได้ เป็นภาพปกติที่มักจะเห็นรุ่นพี่สอนการบ้านรุ่นน้องอยู่มุมหนึ่ง อีกมุมหนึ่งมีวงไพ่ขนาดย่อมส่งเสียงเฮฮา และอีกมุมก็มีรุ่นพี่สุดเท่กำลังเกากีต้าร์มีรุ่นน้องรุมร้องคลอ บางคนนอนมันที่ชมรมเลยก็มี นึกกลับไปก็คิดถึงบรรยากาศแบบนั้นจริงๆ

สุดท้ายที่ขาดไม่ได้คือเสื้อช็อป สิ่งที่ทำให้มนุษย์วิศวะเท่ขึ้น 49.3% แต่ต้องใช้ความระมัดระวังในการใส่เล็กน้อย ถ้าดองไว้จนขี้เกลือขึ้นจากทำให้เท่ อาจกลายเป็นคนงานก่อสร้างได้ นอกจากเท่แล้ว การใส่ช็อปยังเป็นสิ่งที่สบายที่สุดในโลก เพราะแค่เสื้อยืดกางเกงยีนแล้วคลุมช็อปทับ ก็สามารถไปเรียนได้ ไม่ต้องเสียเวลารีด กลัดกระดุม ผูกไทด์ ขัดรองเท้า ฯลฯ ฉันใส่เสื้อนักศึกษาปีละ 2 ครั้ง สอบกลางภาคกับปลายภาค จะใส่ทีต้องหาอุปกรณ์ทั้งหลายทั้งปวงที แต่มันก็มีข้อเสียคือพอไม่ได้แต่งบ่อยๆแล้วแต่ไม่ถูก ซึ่งฉันเคยถูกไล่ออกจากห้องสอบขณะทำสอบอยู่ให้ไปเปลี่ยนรองเท้า TT พ่อฉันเป็นห่วงมากเรื่องเสื้อช็อปเพราะเห็นฉันชอบใส่ไปไหนมาไหน กลัวว่าฉันจะโดนลูกหลงเด็กช่างกลตีกัน ฉันเลยต้องถอดเมื่ออยู่นอกสถาบัน ปัจจุบันมีการรณรงค์ให้ใส่ชุดนักศึกษา แต่ขอเถอะ เพราะเสื้อช็อปเป็นอะไรที่มันเท่และภูมิใจที่ได้ใส่จริงๆนะ (ความรู้สึกส่วนตัว)

ความรู้สึกฉันที่จบออกมาจากสถาบันนี้ แม้จะหลายปีแล้ว บอกได้เลยว่าภูมิใจมากที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของสถาบันนี้ เวลาเขียน series นี้ทีไร ก็อยากย้อนเวลากลับไปในช่วงเวลานั้นจริงๆ

post ถัดๆไปจะสลับโหมดจากหนังรักโรแมนติกไปเขียนแนวแอคชั่น ระเบิดภูเขาเผากระท่อม นั่นก็คือ เรื่องการเรียนนั่นเอง เรียนที่นี่โหดจริงๆ A แต่ละตัวแลกมาด้วยเหงื่อและน้ำตา อย่าลืมติดตามกันน้า

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

*