ACE – คลาสเรียนปรับพื้นฐาน สู่การเป็นนักเรียน MBA

ACE (American Culture and English for International Business Students) program คือคลาสเรียนที่ Kellogg จัดขึ้นเพื่อให้นักเรียนต่างด้าวทั้งหลายได้ปรับตัวปรับใจก่อนเข้าสู่วงวานการเรียนแบบฉบับอเมริกัน เริ่มจัดเมื่อ 14 ปีที่แล้ว และต่อเนื่องมาตลอดจนถึงปัจจุบัน โดยข่าวดีมากๆก็คือ ปีนี้ถือเป็นปีที่ 2 ที่ให้เรียนกันฟรีๆ เอาแต่ตัวและหัวใจมาก็พอ (อ่อ จ่ายค่าเช่าอพาร์ทเม้นท์ด้วย) โดยจากเดิมรู้สึกว่าจะคิดค่าเรียนประมาณแสนกว่าบาท

หลายคนคิดว่า โหย งั้น international student ก็มากันตรึมเลยสินะ กะคร่าวๆคือเด็กต่างชาติ 35% ของชั้นเรียน 450 คน คือราวๆ 150 คน คิดว่ามาได้ซัก 1 ใน 3 ก็ประมาณ 100 คน…

แต่ในความจริงแล้ว อย่าลืมว่าเด็กต่างชาติที่ติด Kellogg ส่วนใหญ่เหนือปุถุชนธรรมดาไปเยอะ มีประสบการณ์ในอเมริกาและต่างประเทศมาแล้วค่อนชีวิต พูดภาษาอังกฤษได้ดีกว่าภาษาถิ่นของตัวเองด้วยซ้ำ คนกลุ่มนี้เลือกที่จะใช้เวลาหลังจากทำงานหนัก (พวกที่ทำ consulting หรือ investment banking มาก่อน) ในการพักผ่อน อยู่กับครอบครัว ไปเที่ยวรอบโลก หรือทำงานเก็บเงินให้ถึงที่สุด คลาสของเราในปีนี้จึงเหลือแค่ 30 คนพอดิบพอดี (ซึ่งค่อนคลาสก็จบมัธยมหรือมหาลัยจากต่างประเทศ บางคนมีประสบการณ์ทำงานที่อเมริกามาแล้วด้วยซ้ำ) มาจาก 11 ประเทศ อันได้แก่ ไทย มาเลเซีย จีน ญี่ปุ่น เกาหลี รัสเซีย ยูเครน เมอริเชียส บราซิล โคลัมเบีย และสเปน

ส่วนฉัน ตอนแรกที่ได้ยินเกี่ยวกับคลาสนี้ก็ยังลังเล ด้วยความประมาณตนผิด หลงคิดไปว่าภาษาอังกฤษพอไหว จนกระทั่งได้ไปเจอะกับตัวตอนไปเยื่อน Fuqua Business School (อ่านย้อนหลังได้ที่ link นี้) มาว่าความจริงมันโหดร้ายเพียงใด เพราะนอกจากภาษาอังกฤษจะต้องแข็งแกร่งมากๆแล้ว เรายังต้องเข้าใจวัฒนธรรมของเค้าอย่างลึกซึ้งซะก่อนถึงจะสามารถ blend in ได้ คิดได้ดังนี้จึงรีบติดต่อนัด Skype เพื่อสัมภาษณ์กับ Professor เพื่อวัดดูว่าเราเหมาะสมกับคลาสนี้ไหมและขอ commitment ว่าจะสามารถมาเรียนได้ 100% ตามตารางที่วางไว้ทั้งหมด

เรียนอะไรบ้าง

บรรยากาศที่ Kellogg ในการเรียนวันแรก คนน้อยเพราะเป็นช่วง summer

ตอนแรกก็คิดว่าน่าจะเป็นการสอนภาษาอังกฤษธรรมด๊าๆ แต่ปรากฏว่าเนื้อหาที่เรียนน่าสนใจเหนือความคาดหมายไปเยอะ โดยแบ่งออกเป็นสามคลาสหลักๆ ดังนี้

American Pronunciation

เป็นคลาสที่คิดไว้ว่าน่าจะมีสอนอยู่แล้ว แต่ส่วนตัวคิดว่าได้ประโยชน์น้อยสุด ไม่ใช่ว่า Professor สอนไม่ดีหรือว่าไม่ advance พอ แต่การที่จะออกเสียงได้ถูกต้องมันขึ้นกับเวลาที่ใช้ในการฝึกฝนเป็นหลัก บางครั้งเป็นหลักเดือนหรือปี ในคลาสก็จะมีการสอนออกเสียง ให้ออกไป present ทั้งแบบเตรียมตัวและไม่ได้เตรียมตัว มีการฝึกการสื่อสารแบบมองไม่เห็นหน้าโดยให้หันหลังชนกันและวาดรูปตามที่เพื่อนอธิบายให้ฟัง (เพราะนักเรียนต่างชาติส่วนใหญ่มีปัญหาเวลาคุยโทรศัพท์เป็นภาษาอังกฤษและตอนช่วงหางานจริงๆต้องมีการโทรคุยกับศิษย์เก่าหรือนายจ้างค่อนข้างเยอะ)

American Classroom

ออกแบบเพื่อให้นักเรียนต่างชาติชินกับคลาสเรียนในอเมริกาที่เน้นการมีส่วนร่วม (Class Participation) เป็นหลัก มีการเชิญ Professor ดังๆที่สอนคลาสจริงๆของ Kellogg มาสอนเพื่อให้นักเรียนได้มีประสบการณ์ตรงในวิชาต่างๆ เช่น Finance, Marketing, Strategy และ Public Policy เป็นต้น มีทั้งแบบ lecture-based, debate และ case study (การเรียนรู้จากกรณีศึกษาของบริษัทต่างๆและ Professor จะเป็นคน facilitate discussion ของนักเรียนในคลาสให้ได้มาซึ่งคำตอบในที่สุด) มีการบ้านทั้งเดี่ยวและกลุ่ม เรียกได้ว่าอัดครบจนเบลอเลยทีเดียว

บรรยากาศในคลาสเรียน

American Culture

เป็นคลาสที่ฉันคิดว่ามีประโยชน์และสนุกที่สุด เป็นการปูพื้นฐานให้นักเรียนต่างชาติสามารถคุยกับพี่กันได้รู้เรื่อง (จะได้มีเพื่อนและสามารถสมัครงานในอเมริกาได้) สอนเริ่มตั้งแต่ประวัติศาสตร์อเมริกา ภูมิประเทศ ชนชาติในอเมริกา อเมริกันฟุตบอล (ซึ่งมีผู้เล่นเก่าในลีก NFL มาให้ความรู้ด้วยตัวเองแถมพวกเรายังได้ลองเล่นกันจริงๆอีกด้วย) ศาสนาในอเมริกา วันหยุด มหาลัยและชีวิต undergrad (มีการจัดเป็น panel ให้คนที่เรียนที่นี่มาแชร์ประสบการณ์) รายการโทรทัศน์ การเมือง และที่สำคัญที่สุดก็คือ การทำ small talk ซึ่งเป็นการพูดคุยเรื่องเบาๆเพื่อสร้าง relationship ที่ชาวอเมริกันชอบทำกัน กลายมาเป็นปัญหาหลักของนักเรียนต่างชาติซึ่งนอกจาก language barrier แล้วยังไม่มี content จะไปพูดคุยกับเค้าอีกต่างหาก ซึ่ง small talk ถือเป็นหัวใจหลักของคลาสนี้และการสร้าง relationship ในอนาคตเลยก็ว่าได้ จึงมีทั้งการสอนทฤษฎี และเปิดโอกาสให้ปฎิบัติด้วย โดยเริ่มจากการ small talk กับเจ้าหน้าที่ใน Kellogg ไล่ไปกับนักเรียนโปรแกรมอื่น และ small group dinner (เดี๋ยวเล่ารายละเอียดอีกทีในหัวข้อหลังค่ะ)

ผู้เล่นใน NFL มาให้ความรู้เรื่องอเมริกันฟุตบอล (ผู้ชายผิวสีตรงกลางวง)

 

เล่น flag football ซึ่งเสมือนอเมริกันฟุตบอลแค่ไม่ต้องผลักให้ล้มเพราะจะมีธงให้ดึงแทนการ tackle

หัวข้อการ small talk กับชาวอเมริกัน

Class Participation

สิ่งที่น่าจะเป็นปัญหาสำหรับนักเรียนที่เรียนในโรงเรียนไทยมาตลอดชีวิตอย่างฉันและนักเรียนเอเชียทั่วไปคือการมีส่วนร่วม (ยกมือถามและตอบคำถาม Professor) ในชั้นเรียน เนื่องจากวัฒนธรรมของเราไม่ได้ผลักดันให้เด็กกล้าพูดกล้าถามตั้งแต่เล็ก เมื่อเทียบกันนักเรียนจากชาติที่ค่อนไปทางตะวันตก เช่น บราซิล ยูเครน รัสเซีย ที่สามารถ participate ในคลาสได้อย่างธรรมชาติกว่ามาก

อุปกรณ์สำคัญที่ทุกคนต้องมีติดตัวในทุกคลาสก็คือป้ายชื่อ ของ ACE program จะพิเศษหน่อยตรงที่มีประเทศระบุให้ข้างล่างด้วย จุดประสงค์หลักๆคือให้ทั้งเพื่อนและ Professor รู้ว่าเราเป็นใคร จะได้เรียกชื่อกันถูก

ป้ายชื่อให้ Professor cold call

Class participation ถ้าจะทำให้ดีต้องประกอบไปด้วยเนื้อหาในการพูดที่ได้ ความกล้า การพูดสื่อออกไปให้ชัดเจนและกระชับ และที่สำคัญคือต้องมีทักษะการฟังที่ดีด้วย เพราะถ้าเราไม่ใช่คนที่เริ่มพูดคนแรก (อารมณ์ว่า Professor จะให้ไปอ่านเคสมาและปกติจะเริ่มด้วยการให้นักเรียนอาสาสรุปให้เพื่อนในคลาสฟัง) ที่เหลือจะเป็นการต่อยอดจากแนวคิดของคนอื่น เช่น ฉันขอเสริมจากที่ John พูดมาว่า บลาๆ ซึ่งหลายๆครั้งฉันมีปัญหาในการฟังสำเนียงของเพื่อนบางชาติไม่ค่อยออกเลยกลายเป็นว่า participate ต่อในประเด็นนั้นไม่ได้

เนื่องจาก Professor สนับสนุนให้ทุกคนพยายามพูดในคลาส เลยกลายเป็นการแย่งพูดกันอย่างดุเดือดในสัปดาห์แรกของการเรียนจนบางทีทำให้ฉันหงุดหงิดได้เหมือนกัน เพราะกลายเป็นว่าทุกคนโฟกัสไปที่ปริมาณหรือจำนวนครั้งในการ participate บางทีแค่ paraphrase ที่คนก่อนหน้าพูดมาแล้วแต่เนื้อหาเหมือนเดิมและกลายเป็นว่าไม่มีเวลาให้เพื่อนที่พูดน้อยได้พูดในชั้นเรียน

FYI: Professor ไปดริ๊งค์ด้วยกันและหลุดปากออกมาว่า ปีนี้เป็นกลุ่มที่ competitive ที่สุดตั้งแต่เคยจัด ACE มา… ใครก็ได้ช่วยนู๋ที

(A HECK lot of) Group Work and Assignment

รุ่นพี่ที่เคยมาเรียนคลาสนี้บอกฉันมาว่าช่วงนี้เป็นช่วงที่ชิวที่สุด วันๆไปปาร์ตี้เที่ยวเล่นกับเพื่อนอย่างเดียว ฉันก็เลยกะมาเรียนๆขำๆ มี pre-online course กับ waiver exam (เป็นการสอบเพื่อสิทธิ์ผ่านในบางคลาสที่เรามีความรู้อยู่แล้ว) ที่ Kellogg สั่งให้ทำก่อนเปิดเทอมก็ยังผลัดวันประกันพรุ่งไปเรื่อย กะว่าจะมาทำเอาช่วงที่เรียนใน ACE program สบายๆ

ตารางกิจกรรมของ ACE program (week 2)

เห็นตารางเรียนแต่ละสัปดาห์แล้วอยากจะถวายธูปเทียนสังฆทานขอพรสิ่งศักดิ์สิทธ์ทั้งหลายให้ลูกช้างรอดไปถึงเปิดเทอมด้วยเถิด เป็นการเรียน 3 สัปดาห์ 9:00-17:00 แบบที่วันส่วนใหญ่ไม่มีพักกลางวัน คือ Kellogg จะเลี้ยงข้าวแต่ในขณะเดียวกันต้องกินและฟังวิทยากรไปด้วย และ 1-2 วันของทุกสัปดาห์จะมีให้ออกไปทำกิจกรรมตอนเย็นอีกด้วย

เพื่อจำลองคลาสเรียนจริง Professor แต่ละคนก็ให้ assignment กันเต็มสตรีม มีทั้งแบบเดี่ยวที่เริ่มตั้งแต่การอ่านข่าวประจำวัน อ่าน article และดูวีดีโอที่กำหนดให้ (เพื่อมา discuss ในห้อง) อัดเสียงเพื่อดูว่าออกเสียงถูกไหม เป็นต้น และแน่นอนว่า Kellogg ที่เน้นเรื่อง teamwork ก็จะต้องมีงานกลุ่ม ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกับคนที่มีจาก background ที่ต่างกันมากๆครั้งแรกของฉัน โดยกลุ่มของเราประกอบด้วย 5 เชื้อชาติ ไทย จีน ญี่ปุ่น เกาหลี และบราซิล เอาจริงๆตอนแรกนึกว่าจะไปไม่รอดเพราะนิสัยต่างกันเหลือเกิน ทำไปทำมาดันชนะ final project ซะได้

ร่มสีม่วงของ Kellogg รางวัลจากการชนะ final project

Group work สไตล์ Kellogg เป็นสิ่งที่ฉันชอบและเกลียดไปในขณะเดียวกัน เพราะมันบีบให้เราทำงานร่วมกับคนที่ยังไม่รู้จักกันดีในระยะเวลาอันสั้นให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด ความยากมันอยู่ที่ ส่วนใหญ่คนที่อยู่ในกลุ่มมี background และแนวคิดต่างกันมากๆ แต่ละคนมี success story และแนวทางการทำงานที่ตัวเองถนัดและทำมาตลอดชีวิต บางครั้งมันเลยกลายเป็นไม่ยอมฟังกันและพยายาม dominate การทำงานของกลุ่ม ยังไม่รวมปัญหาอื่นที่อาจตามมา เช่น ถ้าเพื่อนเป็น free rider (คนที่ไม่ยอมช่วยทำงานกลุ่ม) จะทำยังไง เป็นต้น แต่ในขณะเดียวกัน มันคือการฝึก teamwork skill ที่ดีที่สุด เช่น ทักษะในการฟัง สื่อสาร เปิดใจยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่น ทำงานอย่างมีระบบ และแบ่งงานให้คนที่ถนัดทำในสิ่งนั้น

Social Events

ขึ้นชื่อว่า Party School แล้วจะเบาได้ที่ไหน นอกจากเรียนเช้าจรดเย็น กลับมาทำการบ้านเดี่ยวที่กองสุมไว้ นัดเพื่อนทำงานกลุ่มที่ต้องส่งวันรุ่งขึ้นแล้ว ยังต้องเจียดเวลามา “ทำความรู้จัก” กับเพื่อนให้มากขึ้น

กิจกรรมที่จัดกันระหว่าง ACE program มีหลายอย่าง ส่วนใหญ่ Kellogg ออกเงินให้ (ดีตรงนี้แหละ) ตั้งแต่ party ใหญ่ๆ small group dinner (เป็นการทานข้าวเย็นกันเป็นกลุ่ม โดย Professor จะสุ่มให้ เพื่อฝึกใช้ small talk ในการสร้าง relationship) ไปคาราโอเกะด้วยกันกับเพื่อน หรือนึกครึ้มอยากจะนัดไปเที่ยวไปสังสรรค์วันไหนก็ไปกัน เรียกได้ว่า แอลกอฮอล์ที่กินมาในสามอาทิตย์นี้น่าจะมากกว่าทั้งปีที่กินตอนอยู่ไทย

small group dinner

Emotional Roller Coaster

  • สัปดาห์แรก: ตื่นเต้นที่จะเข้าไปอยู่ใน environment ใหม่ๆ ได้เจอคนใหม่ๆ มีความไม่มั่นใจนิดหน่อยกลัวเข้ากับคนอื่นไม่ได้ พอเข้าไปเรียนแล้วเจอการ participate ในคลาสที่เน้นปริมาณในการ participate เข้าไป รู้สึกว่าไม่ได้ฟังความเห็นอย่างเท่าเทียมจากคนทั้งคลาส ในกลุ่มที่ทำงานก็มีแต่คนพูดแต่ไม่ค่อยมีใครฟัง กำลังเสนอไอเดียอยู่เพื่อนก็พูดตัดหน้าเฉย แต่พอลงมือทำจริงกลับทำกันอยู่แค่ไม่กี่คน เลยเกิดอาการเซ็งกับ culture ที่เจอ
  • สัปดาห์ที่สอง: class culture ยังไม่ดีขึ้น และหนักขึ้นไปอีกเมื่อไปเล่นฟุตบอลซึ่งต้องเล่นรวมชายหญิง พอเพื่อน competitive มากๆเลยกลายเป็นไม่ค่อยอยากให้ผู้หญิงเล่น ประกอบกับมีปัญหาคาราคาซังเรื่องการ settlement (เรื่องพวกการเปิดบัญชีธนาคาร โอนเงินระหว่างประเทศ หาซื้อของใช้ที่จำเป็น จ่ายค่าเช่าอพาร์เมนท์ ฯลฯ) pre-online course กับ waiver exam ก็ยังไม่ได้ทำ รู้สึกผิดหวังกับตัวเองทุกอย่างจน break down ไปทีนึงแล้วค่อยมาตั้งสติ นั่งทบทวนว่ามาเรียน MBA ทำไม set expectation ใหม่ให้มัน practical มากขึ้น
  • สัปดาห์สุดท้าย: พอปรับตัวปรับความคิด ปล่อยวางบางเรื่อง ทุกอย่างก็ดูเหมือนจะดีขึ้นเรื่อยๆ เพื่อนก็สนิทและเข้าใจกันมากขึ้น เหมือนทุกคน aware ว่าพวกเราจะจากกันแล้วก็เลยคล้ายกับรักกันมากขึ้น โดยเฉพาะของกลุ่มที่ทำงานด้วยกันของฉัน ก็เคารพความคิดเห็นและร่วมมือร่วมใจกันมากขึ้น

International Student Community (ACErs)

กลุ่มเพื่อน ACE หรือที่พวกเราเรียกตัวเองว่า ACErs ถือเป็นกลุ่มเพื่อนแรกสุดที่ฉันมีใน Kellogg และเป็นกลุ่มที่ค่อนข้างเหนียวแน่นมากๆ เดินไปไหนมาไหนก็ทักกันตลอดเวลา บางทีที่ Kellogg จัดงาน event ใหญ่ก็แอบมาชุมนุมกันโดยมิได้นัดหมาย จริงๆถือเป็นเพื่อนที่เข้าใจกันมากที่สุด (ในแง่ของก็ blend in เข้ากับนักเรียนอเมริกัน) ฉันถือว่าตัดสินใจไม่ผิดจริงๆที่เลือกมาเรียน ACE program

ACErs ในวันจบโปรแกรม

ACErs ในวันจบโปรแกรม

One comment

  1. สู้ ๆ นะครับมาแชร์มาบ่อยๆ ตามอ่านอยู่ครับผมม

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

*