Welcome to Kellogg School of Management

หลังจากผ่านมาหลายด่าน ฝ่าฟันเลือดตาแทบกระเด็น ปาดน้ำตาไปหลายยก ฉันก็ทำความฝันสูงสุดในชีวิต นั่นคือการไปเรียนต่อต่างประเทศ ให้สำเร็จจนได้ (ใครยังไม่ได้อ่านประสบการณ์การฟันฝ่าด่านอรหันต์เพื่อไปเรียน MBA เรียนเชิญที่นี่ค่ะ link)

ฉันได้รับ offer จากสาม business school นั่นคือ 1.Kellogg School of Management (ทุน 50%) 2. Duke’s Fuqua School of Business (ทุน 100%) และ 3. UCLA Anderson School of Management (ทุน 70%) โดยว่าที่นักเรียนทุกคนต้องจ่ายเงินเพื่อล็อกที่นั่งของตัวเองในคลาสก่อนวัน deadline โดยทั่วไป ค่า deposit จะอยู่ที่ประมาณ $2000 หรือ 70,000 บาท หลายคนที่มีทุนทรัพย์และยังตัดสินใจไม่ได้ หรืออยากลองสมัครโรงเรียนอื่นๆใน Round 2 ก็จะ deposit ไว้หลายโรงเรียนก่อน แต่ตัวฉัน ซึ่งแค่ค่าเรียนตอนนั้นยังกลุ้มอยู่ว่าจะไปเอาที่ไหน ถึงกับนอนไม่หลับไปสองเดือน (คือตั้งแต่วันที่ได้ offer จนถึงวัน deposit นั่นแหละ) เอาขาเรียวๆก่ายหน้าผาก คิดสะระตะเวียนวนอยู่ว่าจะเรียนที่ไหนดี ตอนนี้ทฤษฎี The paradox of choice โผล่ขึ้นมาทันที จากที่ดีใจว่าได้ตอบรับหลายที่ กลายเป็นกลัวเสียใจถ้าเลือกผิดซะงั้น

แนวคิดของการเลือกโรงเรียน

ระหว่างที่คิดวนเวียนไป ฉันก็เริ่มถามความคิดเห็นของคนหลายๆคน แล้วให้น้ำหนักในใจของฉันกับทั้ง 3 โรงเรียนในด้านต่างๆ จากมากไปน้อย ดังนี้

  • เงินที่ต้องลงทุน (น้อยไปมาก): Fuqua -> Anderson -> Kellogg
    น้ำหนักการตัดสินใจสูงสุดอันดับสองอยู่ที่ข้อนี้ หนี้สินที่ฉันต้องมีหลังเรียนจบ ค่าใช้จ่ายของการเรียน MBA แบบ 2 ปีจะอยู่ที่ประมาณ 7-9 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าเล่าเรียนประมาณ 5 ล้านบาท ที่เหลือเป็นค่าใช้จ่ายส่วนตัว เช่น ค่าเช่าอพาร์ทเมนท์ ค่ากินอยู่ ค่าไปท่องเที่ยว เป็นต้น คิดง่ายๆคือถ้าฉันไปเรียนที่ Fuqua ก็จะตัดค่าเล่าเรียนออกไป เหลือค่าใช้จ่ายส่วนตัวประมาณ 2 ล้านบาท ในขณะที่ Anderson ต้องออกเองประมาณ 3.6 ล้านบาท และ Kellogg 4.3 ล้านบาท เอเมน เรียนหรือซื้อบ้านฟระเนี่ย
  • Ranking (มากไปน้อย): Kellogg -> Fuqua -> Anderson
    เอาจริงๆ Ranking มักจะเป็นสิ่งแรกสุดที่คนดูกัน (รวมถึงฉันด้วย) ตั้งแต่วันที่เลือกโรงเรียนที่จะสมัคร ซึ่งฉันมาค่อยๆเรียนรู้ว่ามันไม่ใช่ทั้งหมดของการบอกว่าที่ไหนดีไม่ดี มันมีปัจจัยอื่นๆด้วย สามโรงเรียนนี้ติด Top20 ของการจัดลำดับ business school จากทั่วโลก ดังนั้นการันตีเรื่องคุณภาพได้อยู่แล้ว หัวข้อนี้ฉันจึงไม่ได้เอามาคิดมากเท่าไหร่
  • อากาศ (อุ่นสบายๆไปหนาวฉี่ปิ๊ด): Anderson -> Fuqua -> Kellogg
    อันนี้เป็นหัวข้อหนึ่งที่ฉันคิดมากเหมือนกันเพราะตัวเองเป็นคนทั้งขี้หนาวและขี้ร้อน (คืออยากจะอยู่ในอากาศที่สบายตลอดเวลาว่างั้นเถอะ) แล้วต้องไปอยู่สองปีไงไม่ใช่สองอาทิตย์เหมือนไปเที่ยว ในหัวข้อนี้นำโด่งมาด้วย Anderson ที่อยู่ในดินแดนแห่งสรวงสวรรค์ที่ชื่อ Los Angeles ในรัฐ California ที่ขึ้นชื่อเรื่องอากาศดีตลอดปี ตามมาติดๆกับ Fuqua ที่อยู่ทางใต้ๆ ประเทศในรัฐที่ชื่อ North Carolina คืออากาศดีตีกอล์ฟได้ประมาณสิบเดือน อีกสองเดือนก็หนาวนะแต่ก็ไม่ได้ถึงกับมากมายอะไร ตบท้ายด้วย Kellogg ที่อยู่ในเมือง Evanson ใกล้ๆกับ Chicago ถูกปัดระเด็นไปไกล เพราะอากาศอุ่นสบายอยู่แค่ 4-5 เดือน นอกนั้นหนาวเย็นไปจนกระทั่งถึงหนาวโคตรรร แค่เห็นรูปจากปรากฎการณ์ Polar Vortex ในปีที่ผ่านมาก็สะท้านแล้ว นี่มันในฉาก The day after tomorrow ชัดๆ

    Source: https://archinect.com/

  • สถานที่ตั้งของโรงเรียน (ในเมือง/ชานเมือง/ภูเขาลำเนาไพร): Kellogg (ชานเมือง) -> Fuqua (ภูเขาลำเนาไพร) -> Anderson (ในเมือง)
    อันนี้แล้วแต่ว่าชอบแบบไหน ฉันเป็นคนที่เกลียดการอยู่ในเมืองมากกกกก (อึดอัดมากกับการเข้ากรุงเทพฯเพื่อมาทำงาน 7 ปีที่ผ่านมา) เกลียดรถติด เกลียดตึกเยอะๆ เกลียดการเบียดเสียดแก่งแย่ง เกลียดที่ข้าวของแพงหูฉี่ เกลียดมลพิษ ฯลฯ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าในเมืองมีทุกอย่างและเป็นศูนย์รวมของทุกสิ่ง เช่น อาหารอร่อยๆ ศูนย์การค้า สนามบิน สินค้าอุปโภคบริโภค ฯลฯ สำหรับฉัน โรงเรียนที่อยู่กึ่งกลางระหว่างความเป็นเมืองและภูเขาลำเนาไพรอย่าง Kellogg จึงน่าจะตอบโจทย์ได้ดี ส่วนใครอยากไปอยู่ไกลๆเมืองหน่อยอย่าง Fuqua สิ่งที่ต้องทำแน่ๆคือซื้อรถ เพราะแต่ละสถานที่มันอยู่ไกลกันเหลือเกิน และการเดินทางโดยเครื่องบินค่อนข้างลำบากเพราะมีแค่ American Airlines เจ้าเดียวที่บินตรงมาจากลอนดอนในกรณี international flight ปกติต้องไปเปลี่ยนเครื่องซักทีในอเมริกาก่อนแล้วค่อยบิน domestic flight เข้ามา
  • On-Campus Recruitment (มากไปน้อย): Anderson -> Kellogg -> Fuqua
    จริงๆ 3 โรงเรียนนี้ดังอยู่แล้ว ดังนั้นจึงมีบริษัทต่างๆอยากเข้าไปรับสมัครงานกับนักเรียน MBA ที่โรงเรียนอยู่แล้ว แต่ที่ให้ Fuqua อันดับรั้งท้ายเป็นเพราะว่าดันโด่งดังอยู่ผู้เดียวในแถบนั้น ทำให้บริษัททั้งหลายต้อง put effort ในการมาหานักเรียนถึงที่ (จากที่สอบถามคือบริษัทดังๆ Amazon, Apple, Google, Consulting firm ใหญ่ๆ มาหมด แต่ถ้าอยากสมัครบริษัทเล็กหน่อย เราอาจจะต้องบินไปหาเอง) ในขณะที่ Kellogg มี Booth อยู่ใกล้ๆกัน ส่วน Anderson ไม่ต้องพูดถึง มีทั้ง Stanford ยอดแห่ง business school และ Hass (University of California Berkeley) บวกกับอยู่ไม่ไกลกับ Silicon Valley มาก อะไรมันจะทำเลได้ขนาดนั้น แต่เอาเข้าจริงทุกๆโรงเรียนก็มีสิทธิ์จะได้งานในอเมริกาไม่ต่างกัน ตัวอย่างเช่น พี่ที่รู้จักเก่งเว่อร์คนหนึ่งเรียนอยู่ Fuqua ตอนนี้ก็ได้งานที่ Amazon แบบคูลๆไปแล้ว
  • จำนวน Alumni ในประเทศไทย (มากไปน้อย): Kellogg -> Anderson = Fuqua
    ถ้ามองเรื่องจำนวนศิษย์พี่สำนักเดียวกันที่อยู่ในประเทศไทยแล้ว Kellogg ถือว่ากินขาด อาจเป็นเพราะว่าทำตลาดในประเทศไทยมานานจนมั่นคงและตอนนี้ย้ายไปทำตลาดที่จีนแล้ว หัวข้อนี้ถือว่าค่อนข้างสำคัญสำหรับฉันที่ในระยะยาวคงกลับมาอาศัยอยู่ในประเทศไทย และถ้าได้มี connection ดีๆรออยู่ก็คงดีไม่น้อย
  • Culture/Values: และแล้วก็มาถึงหัวข้อสุดท้ายที่ฉันให้น้ำหนักมากที่สุด อันนี้ขึ้นอยู่กับปมในใจที่มี ตัวตนที่แต่ละคนอยากเป็น ดังนั้นฉันจึงไม่มีลำดับให้กับโรงเรียนไหนทั้งสิ้น Anderson ให้ความสำคัญกับการ drive change ส่วน Fuqua โด่งดังในเรื่องของ team effort ในขณะที่ประโยคหนึ่งในคลิปโฆษณาของ Kellogg จับหัวใจฉันนัก “…a Kellogg person is somebody who is driven to achieve big things but doesn’t put your ego first.” ฉันอยากจะเป็นคนๆนั้น คนที่ทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่แต่ไร้ซึ่ง ego

ถึงจะตรงใจขนาดไหน แต่พอเห็นเงินที่ต้องจ่ายแล้วก็รู้สึกปวดใจทุกที พี่เจส (Mission to top U) ก็เลยแนะนำว่าน้องเจนเขียนไปขอทุนเพิ่มเลยสิ (เห้ย ได้ด้วยหรือพี่) ตามนั้นค่ะ ผ่านไปสองเดือนกับการลุ้นและตามจิก Ad Com ก็โทรกลับมาว่า อ่ะ เอาไปอีก $20,000 นะแล้วหยุดโวยวาย รำคาญแล้ว (ล้อเล่น เค้าโทรมาคอนแกรต 555) ตอนนี้เลยไปด้วยทุนเกือบ 70% เหลือต้องจ่ายเองอีก 3.6 ล้านบาท ต้องกราบขอบพระคุณพี่เจสมาในที่นี้

Class of 2021

Source: https://www.kellogg.northwestern.edu/programs/full-time-mba/student-culture/class-profile.aspx

ต่อไปจะขออัญเชิญ class profile ของชั้นเรียนของ Kellogg MBA พอดีว่าสถิติของคลาสของฉันปี 2021 ยังไม่ออก (Business school จะนับปีที่เรียนจบ เรียนปีนี้นับไปอีก 2 ปี เป็น 2021) เลยเอาสถิติของปีก่อนมาให้ดูพลางๆ ข้อสรุปเป็นหัวข้อดังนี้

  • Women Percentage: gender equality เป็นเทรนหลักของวงการธุรกิจและถ่ายทอดมาถึงการเรียน MBA โดยถ้าโรงเรียนไหนมีผู้หญิงเข้าไปเรียนมากๆแล้วนอกจากจะได้ประโยชน์ในเรื่องของ diversity (พอมีความหลากหลายมาก จะทำให้ผู้เรียนได้ประโยชน์จากแง่มุมหลายด้าน มีประสบการณ์การเรียน/ทำงานกลุ่มที่หลากหลาย) ยังเป็นการแสดงการสนับสนุนให้มีผู้นำทางธุรกิจที่เป็นผู้หญิงมากขึ้น ซึ่งปกติแล้วผู้หญิงถือว่าเป็น minority ของคลาสเรียน MBA โดยบางโรงเรียนมีสัดส่วนเพศหญิงอยู่แค่ยี่สิบเปอร์เซ็นต์ปลายๆด้วยซ้ำ Kellogg ที่ได้ 46% จึงถือว่ามีสัดส่วนเพศหญิงในคลาสเรียน MBA มากเป็นอันดับต้นๆของโลก
  • GMAT: ค่าเฉลี่ยจะอยู่ที่ 732 คะแนนจะสูงไปไหน ฉันได้อยู่ที่ 720 ก็ถือว่าไม่ถึง mean นะจ๊ะ (เปิดเรียนตายแน่กุ) ส่วนคนที่คิดจะสมัครก็อย่าได้ท้อถอย ให้เหลือไปมอง stat ตัวที่เขียนว่า “GMAT Range” และจะได้อุ่นใจขึ้นมาหน่อย ก็คือมีคนได้คะแนนตั้งแต่ 590 – 790 (คิดว่าคนที่ได้ 590 นี่คือโปรไฟล์ด้านอื่นต้องเว่อร์วังอลังการมากแน่ๆ)
  • Class Size: Kellogg ถือเป็นโรงเรียนที่มีขนาดของชั้นเรียนอยู่ในระดับปานกลางคือประมาณ 450 คน (ยังไม่รวมโครงการ 1Y และ MMM อีกประมาณ 160 คน) เทียบกับมากสุดอย่าง Harvard ที่มีนักเรียนเกือบพันคนต่อคลาส หรือตัวอย่างที่น้อยๆ เช่น Haas ที่มีนักเรียนประมาณ 250 คนต่อคลาส ลองดูข้อมูล class size ของปี 2018 ของแต่ละโรงเรียนจาก link นี้ได้ค่ะ
  • Age: เฉลี่ยมาแล้ว 28 ปี (อายุฉัน ณ วันที่เข้าเรียนพอดี อิอิ) แต่ความจริงนั้นต้องบอกว่าคนไทยไปเรียนกันที่อายุประมาณ 25-27 ปีนะจ้ะ ฉันเลยเปรียบประหนึ่งปูชนียบุคคลให้น้องๆบูชา (เศร้าใจ) ในขณะที่ประเทศอื่นๆอาจจะมีเทรนที่แตกต่างกันไป เช่น ในขณะที่นักเรียน 9 คนจากประเทศไทยปีนี้อายุมากสุดที่ 29 ปี แต่ดันเป็นอายุที่น้อยที่สุดของนักเรียนทั้งหมดที่มาจากญี่ปุ่น
  • Work Experience: เฉลี่ยอยู่ที่ 5.1 ส่วน range อยู่ที่ 3.5-7 ปี ฉันซัดปลายมาเลยจ้า 7 ปี ผู้กร่ำประสบการณ์ของแท้ แลเห็นรอยยับที่หางตา เหอะๆ
  • GPA: เฉลี่ยอยู่ที่ 3.6/4.0 ข้อนี้อาจจะเป็นข้อเดียวที่ฉันทำได้ดีกว่าค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.9 แต่ก็นะ เรื่องมันจบไปนานจนคิดไม่ออก เรียนวิศวะมาอีกตั้งหาก ถูมือรอกอดขาอ้อนวอนบุคคลผู้เรียนธุรกิจมาตอนปริญญาตรีมาสอนการบ้าน
  • Nationality: เรื่องเชื้อชาติเป็นสิ่งที่ฉันคิดว่า business school ในอเมริกายังทำได้ไม่ค่อยดีเมื่อเทียบกับในประเทศอื่นๆ ดูสัดส่วน international student แค่ 34% = คนอเมริกัน 66% (แม้จะเป็น minority อีก 27% ก็ตาม) แต่ก็ทำให้มีพี่กันอยู่ในคลาสอยู่มากอยู่ดี สาเหตุน่าจะเป็นเพราะคนที่นั่นนิยมเรียน MBA กันเพราะความได้เปรียบในกระบวนการสมัครและหางานหลังจบนั่นเอง
  • Industry Background: ฉันอยู่ในหมู่ผู้นิยมเรื่องต่อ MBA มากที่สุดนั่นคือพวก Consulting รองลงมาคือคนที่ทำงานในสายการเงินและ Tech ตามลำดับ คนที่อยู่ในสายงานเหล่านี้และอยากเรียนต่อ MBA ต้องทำใจเนิ่นๆเลยว่าการแข่งขันสูงแน่นอน
  • Undergraduate Majors: อันดับหนึ่งคือสายบริหาร/เศรษฐศาสตร์ ตามมาด้วยสายฮาร์ดคอร์ดคำนวณหนักๆ เช่น วิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และลำดับสุดท้ายคือสายศิลป์ มนุษย์ศาสตร์

หลังจากเก็บงำมานาน ก็ได้เฉลยซักทีว่าไป Kellogg นะค้า (คนเค้ารู้กันทั้งบางแล้วเมิง) ขอเน้นย้ำในที่นี้ว่า Kellogg อาจจะดีที่สุดสำหรับฉัน แต่สำหรับคนอื่นก็ต้องค้นหาด้วยตัวเอง เพราะความต้องการของแต่ละคนไม่เหมือนกัน post นี้แค่แสดงตัวอย่างของการตัดสินใจเลือกโรงเรียนที่จะไปเรียนที่สามารถเอาแนวคิดไปประยุกต์ใช้ได้จ้า

ปิดท้ายด้วยประโยชน์ที่ได้มางงๆจากการเรียน Kellogg นั้น คือ Global Hub ที่เพิ่งสร้างใหม่และเปิดใช้มา 3 ปี เพื่อนๆที่ไปเดินสายดูโรงเรียนในสถานที่จริงมา (ฉันก่อนสมัครแค่เปิดๆรูปดูเอาเท่านั้น) บอกเป็นเสียงเดียวกันว่าตึกเรียนของ Kellogg สวยที่สุด ณ ตอนนี้แล้ว

ปิดด้วยการถ่ายรูปกับตึกเรียน ณ วันแรกที่ลงเครื่องมา เห่อไปอี้ก

6 comments

  1. สุดยอดเลยเจนน ยินดีด้วยอีกครั้งงง

    เรื่องค่าใช้จ่ายในการเรียน คือ นอกเหนือจากที่ทาง ม. support ที่เหลือนั้นเราต้องใช้ทุนส่วนตัว(เป็นก้อน)(หลักล้าน!!) ทั้งหมดเลย ณ ตอนนั้นเลยหรอ หรือว่าการทำงานระหว่างเรียนจะพอช่วยได้ไหม แค่แบบสงสัยหากติดแล้ว แต่ทุนส่วนตัวน้อยจะทำอย่างไรไดบ้าง พอจะแชร์ได้ไหมอ่า

    • ประมาณนั้นเลย ค่าเรียนกินอยู่แบ่งใช้ก็จริง แต่จะไม่มีเวลาขยับตัวไปทำอะไรได้เลย ปกติก็จะกู้มหาลัยเป็นก้อนๆกันอ่ะ

      • ขอบคุณที่แชร์นะะ

        รออ่านจนเรียนจบ ทำงาน เป็นผู้บริหารใหญ่ นะ

  2. สงสัยว่า US minority คือใครหรอคะ?
    ถ้าเป็น minority ที่อายุน้อยนี่เข้าใจแต่ว่านี่ป.โท เลยไม่ค่อยเข้าใจว่าคือกลุ่มไหนอ่ะค่ะ

    • ที่เข้าใจคือกลุ่มคนผิวสี Hispanic ที่ไม่ใช่ผิวขาว อะไรประมาณนี้ค่ะ

  3. สุดยอดมากเลยครับ ผมกำลังพยายามอยู่ เพื่อจะสมัครปีหน้า กะจะขอทุนจาก SCG รอติดตามทุกบทความที่เขียนนะครับ เป็นประโยชน์มากๆครับ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

*