ทางลัดสู่ TOEFL iBT 116/120

หลังจากผ่านด่านอรหันต์ของ GMAT มาได้ (สามารถตามอ่านความรันทดได้ที่ ‘GMAT ข้อสอบที่ใช้ความพยายามอย่างเดียว อาจไม่พอ…‘) ต่อไปก็ถึงคราวโจทย์เก่าอย่าง TOEFL ที่เคยสอบเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ตอนนี้คะแนนเก่าจึงหมดอายุไปแล้ว (หลายคนอาจสงสัย นับตั้งแต่ครานั้นเมิงยังไม่ไปเรียนต่ออีกหรืออออ) นั่นหมายความว่า จงไปเสียเงินสอบใหม่ซะดีๆ

Source: https://www.universitiesabroad.com/articles/tips-tricks-for-mastering-the-toefl-340

ปูพื้นเล็กน้อย TOEFL หรือ Test of English as a Foreign Language เป็นข้อสอบที่ผู้ที่จะเรียนในมหาวิทยาลัยต่างประเทศส่วนใหญ่ต้องสอบ เป็นเครื่องการันตีว่า เรียนไหวนะจ้ะ นู๋รู้ภาษาปะกิต รวมถึงคนที่มุ่งหวังจะสมัครเรียนต่อปริญญาโทในสาขา MBA อย่างฉัน หากไม่เคยเรียนต่างประเทศหรือเรียนในโครงการ international มาก่อน ก็จงไปเอาคะแนนมาประกันตนซะ! (อันนี้ขอให้เช็คเงื่อนไขกับมหาลัยในดวงใจว่าต้องยื่นคะแนนหรือไม่ เรียน inter แล้วต้องสอบไหม แต่ปกติเท่าที่รู้ไม่ต้องค่ะ)

ส่วนคะแนนที่ต้องทำให้ได้จะเป็นเท่าไหร่นั้น ก็ขึ้นกับว่ามหาลัยในดวงใจของท่าน โหดร้ายขนาดไหน ปกติแล้วมหาลัยปกติทั่วไปขอคะแนน TOEFL ที่ 80 (เต็ม 120) ขึ้นไป มหาลัย Top100 ของอเมริกาขอ 100 ขึ้นไป (บางที require ทุก part ให้ได้มากกว่า 25 จากคะแนนเต็ม 30) ความซวยบังเกิดเนื่องจากว่าถ้าอยากจะสมัคร Top30 Business Schools ของอเมริกา รู้กันว่าควรทำให้ได้ 110 ขึ้นไปถึงจะดูดีมีราศี…

หยิบยาดมตราลิงถือลูกแอปเปิ้ลขึ้นมาแพร้บ ป้าจะเป็นลม!

ท้าวความกลับไปเมื่อ 4 ปีที่แล้ว จบใหม่ใสๆ ทำงานพอกล้อมแกล้ม มีเวลาอ่านหนังสือก่อนสอบเต็มที่ เตรียมตัวมา 3 ปีเต็มๆ ยังได้ 109 (อ่านความใสๆในการเตรียมตัวครั้งก่อนได้ที่ ‘TOEFL IBT ก้าวแรกของการไปเรียนต่อต่างประเทศ’) แม่เจ้า ตอนนี้ ป้าแก่แล้ว ป้าล้ามาก ภาระในงานและชีวิตส่วนตัวเย้ออออออะ และป้าต้องเอาคะแนนให้ได้ภายใน 2-3 เดือนเพื่อสมัครเรียนต่อในปีนี้ ไม่งั้นจะไม่เรียนแล้วนะ แต่งงานแม่ม อุ้ยตาย เมิงจะ mission impossible เกินไปไหมคะ

แต่ใน weaknesses ก็มี strengths เว้ยเห้ย คือเดี้ยนผ่าน GMAT มาแล้ว (ซึ่งถือว่า Reading หินกว่ามาก) และมีโอกาสได้ทำงานกับคนต่างชาติอยู่พอสมควร จากประสบการณ์สอบ TOEFL ครั้งแรกและการสอบ GMAT ป้าก็ได้กลั่นกรองทางลัดสู่การไปถึงเป้าหมายคะแนนที่ตั้งใจไว้ให้หลานๆทั้งหลายแล้ว นั่นก็คืออออ

  • ทำ mock ข้อสอบจริงจากผู้ออกข้อสอบ (ETS) เท่านั้น
    ขอแนะนำหนังสือ 3 เล่มนี้ รวมเป็น mock ข้อสอบจริงที่เคยใช้สอบกันจริงๆ 13 full test ทำให้หมดนี่แล้วค่อยว่ากัน
    ที่ให้ใช้ของจริงเพราะเราจะได้รู้แนวทางของเรื่องที่ออก ความยากง่าย logic การคิดคำตอบ ที่ใกล้เคียงที่สุด ฉันเคยพลาดมาแล้วที่ครั้งก่อนไปซื้อหนังสือของสถาบันอื่นมาใช้อยู่นานแรมปี ทำให้มี perception ไม่ตรงกับข้อสอบจริง
  • ทำ mock ในเครื่องคอมเท่านั้น
    ความเคยชินเป็นสิ่งสำคัญ คราวที่แล้วทำในกระดาษไป 3 ปี ในคอมแค่อาทิตย์เดียว แล้วก็ไปเก้ๆกังๆในสนามจริง ไม่เอาแล้วนะคะ หนังสือที่แนะนำข้างบน 3 เล่ม มันจะมี CD มาให้ ได้โปรดนำ CD ดังกล่าวใส่เครื่องคอมและ install software ข้างในซะ เสร็จแล้วจะเผาหนังสือทิ้งไปเลยยังได้ (แต่ให้แน่ใจว่า CD ยังอยู่นะ) ทำข้อสอบกับ software อันนั้นเท่านั้น ห้ามทำในหนังสือเด็ดขาด ฝึกอ่านในคอมในชิน คลิ๊กตรงไหน เวลาดูตรงไหน มี function อะไร วันจริงอาจมีความต่างมาก แต่เล็กน้อยมาก
  • ทำ mock สักอัน วิเคราะห์จุดเด่นจุดด้อย
    ข้อแรกต้องถามตัวเองว่า target คะแนนอยู่ที่เท่าไหร่ ลองทำ mock ซักอันแล้วจะรู้เลยว่าความสามารถเราอยู่ตรงไหน ทีนี้ให้มาเริ่มคิดว่าจะเอา part ไหนเท่าไหร่ ฉันโชคดีที่มีสอบครั้งที่แล้วเป็นตัววัดว่าตัวเองแข็งอ่อนตรงไหน แต่สำหรับคนที่ไม่เคยสอบจะประเมินตัวเองยากหน่อยใน part Speaking กับ Writing ให้ลองฟังตัวอย่าง (Software จะให้ตัวอย่างที่ level คะแนนต่างๆมา) แล้วเทียบกับของตัวเองหรือให้เพื่อนที่เคยสอบฟังหรือดูให้ก็ได้ การวิเคราะห์จุดเด่นจุดด้อยเทียบกับ target คะแนนของเราจะทำให้เราสามารถประเมินได้คร่าวๆว่าต้องทำอะไรบ้างและใช้เวลาเท่าไหร่
  • จองวันสอบเลย เดี๋ยวเวลาอ่านหนังสือมาแน่
    คนเราส่วนใหญ่นิสัยเสีย ชอบผัดวันประกันพรุ่ง ถ้าไม่มี deadline บางครั้งก็ยากที่จะทำอะไรเสร็จ หลังจากได้เวลาที่ต้องใช้เตรียมตัวมาแล้วก็ให้จัดการบวกลบเล็งหาฤกษ์งามยามดีแล้วกดจองสอบไปเลย ขนาดฉันกดไปให้ตัวเองมีเวลาซัก 2 เดือน งานรุมเร้าบ้าง มี event นู่นนี่ ชะล่าใจบ้าง เงยหน้ามาอีกทีมีอยู่ 2 วัน คิดเป็น 0.27% ของเวลาสอบคราวที่แล้ว คราวนี้แหละหางจุกตูด คนอื่นเค้าเริ่มไปเที่ยวสงกรานต์ เราก็นั่งเคี่ยวกร่ำกับการเตรียมสอบไป สุขสบายใจจังเล้ยยย
  • เลือกศูนย์สอบดีมีชัยไปกว่าครึ่ง
    แนะนำให้ไปสอบที่อัสสัมชัญบางรัก ดีกว่าที่เกษมบัณทิตอีก นั่งไม่ติดกันมาก มีแผ่นกันเสียงเป็นมาตรฐาน (เป็นคอกๆเหมือนห้อง sound lab) แต่ยังไงได้ยินคนอื่นพูดแน่นอนจ้ะ เตรียมใจไว้เลย หูฟังอย่างดังทะลุแก้วหูกระแทกเข้าเซรีบัมส่วนกลางจนต้องลดความดังลงครึ่งนึง มีอาจารย์ฝรั่งมาอธิบายการสอบก่อนสอบ ตอนพักก็มี burger จาก McDonald ให้กิน เสียอย่างเดียวยามไม่ให้จอดรถในโรงเรียน บอกบราเธอร์มีประชุมห้ามจอด เจ้าของสถานที่อยากว่ายังไงเดี้ยนได้ทั้งนั้น แต่บอกหน้าเว็บหรือส่งเมล์มาสักฉบับสิคะลู้ก นู๋เป็นศูนย์สอบนะคะ กว่าจะต่อรองเข้าไปจอดได้เหนื่อยมาก แนะนำว่าตัดปัญหานั่งแท็กซี่ไปค่ะ
  • ลอง mock full test ทีเดียวซัก 2-3 ครั้ง ก่อนสอบ
    ฝึกสติและสมาธิ คิดสภาพว่าทำ Reading มาแล้ว 80 นาที (ถ้าโชคดีได้ Reading 60 นาที ไปงอก Listening แทนก็จะเหนื่อยน้อยกว่าหน่อย) ซัด Listening ไปอีก 60 นาที เบรกหายใจ 2 เฮือก แล้ว Speaking ต่ออีก 20 นาที คนส่วนใหญ่จะเริ่มเลอะเลือนตอน Writing 50 นาทีสุดท้าย แบบ กุไม่ไหวแล้วววว เอากุออกไปที! ไม่ได้นะคะ ทุกคะแนนมีคุณค่า ได้ 99 ก็ถือว่าไม่ถึงร้อย ต้องเสียตังค์อีก 6,000 กว่าบาทสอบใหม่ เสียพลังกายพลังใจ เสียเวลาอีกรอบ endurance จึงสำคัญมาก
  • เปลี่ยนเป็นสอบ IELTS ดีไหม
    ถ้าสอบมาหลายครั้งแล้วไม่ได้คะแนนที่อยากได้ ให้ลองดูว่ามหาลัยที่ต้องการรับคะแนน IELTS หรือไม่ แล้วลองสอบ IELTS แทนดู ความยากของ TOEFL ที่ทำให้หลายคนหันไปสอบ IELTS แทนคือ
    1. Speaking ที่ผิดธรรมชาติ
      Speaking ของ IELTS พูดกับคน ไม่มีเวลากำหนดชัดเจนแบบ TOEFL ตอนสอบสอบทีละคน ส่วน TOEFL ใช้การพูดอัดในคอม ระหว่างพูดก็ได้ยินคนข้างๆข้างหลังข้างหน้าพูดตอบคำถามเดียวกันไปด้วย มีกำหนดเวลาชัดเจนเช่น ให้เวลาคิด 15 วินาที พูด 45 วินาที ขาดได้แค่ 5 วิถึงจะไม่น่าเกลียดไม่โดนตัดคะแนน เกินพูดไม่จบก็ตัดไปเลย คนเตรียมสอบ TOEFL จะรู้ว่าเสียงปิ้บบบบตอนหมดเวลา มันสั่นประสาทขนาดไหน ระหว่างพูดก็ต้องดูเวลาไปด้วย โคตรจะผิดธรรมชาติ
    2. Skills ที่ปนกันมั่วใน part Speaking และ Writing
      Speaking และ Writing ของ TOEFL บางข้อต้องอ่านและฟังมาก่อนแล้วค่อยพูด/เขียนเปรียบเทียบสิ่งที่อ่านและฟังมา ถึงเราจะอ่านเก่งแต่ฟังไม่เก่งก็เจ๊งนะจ๊ะ ต้องอ่านรู้เรื่อง ฟังเข้าใจ พูดคล่อง ถึงจะได้คะแนนเยอะ โหดชิบ

TOEFL มี 4 parts เรียงตามลำดับตามการสอบจริงคือ Reading, Listening, Speaking, Writing คะแนน part ละ 30 รวมเป็นเต็ม 120 คะแนน ขอรวบรวม tips ที่ใช้เตรียมตัวของแต่ละ part (ซึ่งส่วนตัวคิดว่าเป็นกลยุทธ์ที่ย่นระยะเวลาและทำให้ได้คะแนนค่อนข้างดี) ดังนี้

Reading [80 นาที 4 เรื่อง เรื่องละประมาณ 13-14 ข้อ]

  • ฝึกคุมเวลา ฝึกสมาธิ: expect ว่าจะต้องอ่าน 4 เรื่อง เรื่องละ 20 นาที รวมเป็น 80 นาที ให้ focus เรื่องการคุมเวลาให้ได้ประมาณเรื่องล่ะ 20 นาที เพราะอาจจะทำเรื่องหลังๆไม่ทัน สมาธิตอนเริ่มทำสอบต้องดี เพราะถ้าไม่ได้เข้าห้องเป็นคนสุดท้าย ระหว่างเราทำ part Reading ไปแล้วคนอื่นยังถ่ายรูป หาเก้าอี้ ทวนกฎสอบกันอยู่ (แต่บางศูนย์สอบก็ให้ทำพร้อมกัน) แต่ถ้าจะเข้าคนสุดท้าย ระหว่างที่ทำ Reading ไม่เสร็จ คนอื่น Listening แล้ว อาจจะมีเสียงหลุดรอดมารบกวนอยู่ดี ดังนั้นสมาธิเป็นสิ่งสำคัญเด้อ
  • อ่าน 1 paragraph แล้วตอบเลย: วิธีที่ฉันใช้คืออ่านโจทย์ (แค่โจทย์ยังไม่ต้องอ่าน choice) แล้วค่อยอ่านเรื่อง ปกติคำถามจะถามไล่ paragraph ไปเรื่อยๆ paragraph ล่ะ 1-2 คำถาม อย่าอ่านทีเดียวให้จบแล้วค่อยตอบ เพราะ TOEFL เรื่องยาวและเป็นข้อสอบถามรายละเอียดแบบละเอี้ยดละเอียด ไม่มีทางแบ่งสมองไปจำได้ขนาดนั้น การันตีว่าต้องกลับไปหาและอ่านใหม่ ถึงจำได้ก็อาจสับสนจนตอบผิด คำถามส่วนใหญ่ (ยกเว้นข้อสุดท้ายที่ถามเรื่อง main points) ไม่จำเป็นต้องรู้เรื่องราวทั้งหมด แค่ paragraph นั้นก็พ
  • อ่านไม่เข้าใจให้ keep going: ไม่ว่าจะเป็นคำศัพท์หรือประโยคที่อ่านไม่เข้าใจ ให้อ่านต่อไป ส่วนใหญ่เห็นบริบท (context) โดยรอบเดี๋ยวก็เข้าใจเอง อย่าท้อแท้หรือไปเสียเวลาอ่านทวนไปทวนมาแค่ประโยคนั้น
  • ทำตัวให้เคยชินกับ Reading topics ของ TOEFL: พวกเรื่องที่เอามาออกสอบส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่เด็กอเมริกาเรียนตอน high school อะไรแบบนี้ ซึ่งเราไม่ได้เรียนไงลูก เช่น ประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐานของชาวอเมริกา ทีหลังถามสิว่าใครเป็นฑูตไปเจริญสัมพันธไมตรีสมัยพระนารายณ์มหาราช หรือมีเรื่องเกี่ยวกับนกอีมูยังเงี้ย โหย ไอ้เจ้านกอีมูหน้าตายังไงก็ยังไม่เคยเห็น ทีหลังถามเกี่ยวกับช้างไหม? ไอ้พวกนี้ตอนทำ mock test ก็ให้ลองไปเสิร์ชดูหน้าตาเรื่องราวเกี่ยวกับพวกนี้ พอทำ mock test ไปในระดับหนึ่งเราจะคุ้นเคยกับ topics ที่จะออกไปโดยปริยาย
  • เรียนรู้คำศัพท์ที่ใช้ใน TOEFL: การทำ mock test บ่อยๆจะทำให้เราได้ศัพท์ที่ TOEFL ชอบพูดถึงด้วย ยกตัวอย่างเช่น shrub ซึ่งแปลว่าพุ่มไม้ ถึงจะใช้ภาษาอังกฤษทำงานบ้าง คงไม่ไปพูดอะไรเกี่ยวกับพุ่มไม้กับเพื่อนร่วมงาน แรกๆจะรู้สึกว่าตัวเองโง่แต่จริงๆแล้วศัพท์ที่เราใช้มันเป็น business vocab ไง ก็ไม่แปลกที่เราจะไม่รู้ academic vocab อีกอย่าง TOEFL เป็นข้อสอบนิสัยเสียคือเวลาถาม synonym ของคำศัพท์ (ปกติทุก passage จะต้องมีอย่างละ 2-3 ข้อ) มักจะเดาไม่ได้จาก context หรือนางจะหลอกให้ตอบผิดด้วยซ้ำ แบบ เลวมาก! คือในชีวิตจริงมันควรจะเดาได้บ้างป้ะ ไม่ใช่ไม่รู้ 1 คำปิ๋วเลย
  • หัดจับ main point: ข้อสุดท้ายซึ่งมีค่าเท่ากับ 2 คะแนน จะให้เราเลือก main points ซึ่งต้องหลีกเลี่ยง main point ที่สรุปผิดไปจาก passage หรือ minor เกินไป ไอ้ข้อแรกยังหมูๆแต่ข้อหลังต้องฝึกกันหน่อยเพราะจริงๆมันถูกต้องตามเนื้อเรื่อง แต่จิ๋วไปไม่ถือว่าเป็น main point อะไรแบบนี้

Listening [60 นาที 6 เรื่อง ทั้งหมดตกประมาณ 33-34 ข้อ]

ถือเป็น part ทำคะแนนซึ่งปกติคนไทยเราก็น่าจะเด่นใน skill นี้ที่สุด

  • Effective note taking: ฝึกการจด note ให้เร็ว พยายามใช้สัญลักษณ์และตัวย่อแทนคำพูดให้ได้มากที่สุด เช่น increase ก็เขียนลูกศรขึ้นแทน การจด note ไม่ต้องจดทุกอย่างแต่ต้องละเอียดพอที่จะตอบสิ่งที่ข้อสอบจะถามได้ ถามว่าจะรู้ได้ยังไงว่าข้อสอบจะถามอะไร ถ้าทำ mock test ไปเยอะๆจะรู้เองว่าข้อสอบมักจะถามประมาณไหน Listening topics ส่วนใหญ่ เป็นเรื่องที่เกิดใน campus หรือเป็น topics วิชาการคล้ายๆกับใน part Reading ถ้ามีเวลาเพิ่มเติมให้ดูสารคดี เน้นสำเนียงอเมริกันเป็นหลัก

Speaking [20 นาที 6 ข้อ]

หินสุดเพราะมีเสียงคนอื่นพูดรบกวนกับอาศัยทักษะอื่นๆด้วย

  • มี pattern ได้ แต่พยายามพูดให้ดูธรรมชาติมากที่สุด: ถึงตัวเองจะทำข้อสอบให้ผิดธรรมชาติขนาดไหนแต่จุดหนึ่งที่ TOEFL อยากเห็นคือความเป็นธรรมชาติของผู้สอบ (อยุติธรรมที่สุด) สมมติเพื่อนถามเราว่า ‘What is your most embarrassing experience?’ ลองคิดดูว่ามีใครจะตอบว่า ‘My most embarrassing experience is when I spoke English in front of the class for the first time. I think this way because of two reasons: First,…’ แม่เจ้า นี่คนหรือหุ่นยนต์ ให้นึกว่าควรพูดกับเพื่อนแบบไหนแล้วตอบออกไป
  • ฝึกกับเสียงรบกวน: เสียงรบกวนขณะสอบ speaking เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ถ้าเลี่ยงไม่ได้ เราก็ต้องสู้กับมัน ระหว่างทำ mock test เปิด CNN คู่ไปเลย ให้ดังๆหน่อยยิ่งดี ถ้าหาเพื่อนมาพูดพร้อมกันเรื่องเดียวกันเลยยิ่งดี เอาให้เหมือนจริง สร้างจิตให้แข็งแกร่ง สอบรอบแรกฉันไม่ได้ฝึกเรื่องนี้ ผลคือ พอมาได้ยินเสียงรบกวนครั้งแรก ช็อค สติหลุด คะแนนก็หลุดไปด้วยเลย
  • หาเรื่องเกี่ยวกับหัวข้อต่างๆเตรียมไว้: ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องจริง เพราะเอาจริงก็ไม่มีใครมาตรวจสอบ เอาเรื่องที่พูดง่ายและเราคิดศัพท์ออกก็พอ เช่น ถ้าข้อสอบให้พูดถึงเพื่อนที่สนิทที่สุด ถึงแกจะมีเพื่อนชื่อภัทราภรณ์ ก็บอกไปว่าเพื่อนชื่อ Alice ง่ายกว่าเยอะ ให้ลองคิดสิ่งเหล่านี้เตรียมไว้: ลักษณะของคนที่ชอบ/ไม่ชอบ หนังสือที่ชอบ ภาพยนตร์ที่ชอบ สถานที่ที่ชอบ เหตุการณ์ที่ประทับใจ/อับอายที่สุด เป็นต้น
  • ปริ๊นท์คำถามของโจทย้ speaking ข้อ 1 และ 2 มาฝึก: ช่วยเรื่อง creativity ซึ่งสำคัญมากเพราะในห้องสอบเราจะมีเวลาแค่ 15 วินาทีในการคิดคำตอบและเหตุผลสนับสนุนเพื่อจะพูดอีก 45 วินาที (นานนะเฟ้ย) ลองฝึกคิดคำตอบขณะแต่งหน้า ขับรถไปทำงาน อาบน้ำ ถ้ามีโอกาสก็พูดคำตอบออกมาเลยก็ได้ จะได้รู้ว่าเราพูดได้ไหม เรื่องมันจะ flow แค่ไหนถ้าตอบจริงๆ
    * ฝึกออกเสียง: ส่วนตัวเห็นว่า คนตรวจจะฟังออกไม่ออก ไม่ได้ขึ้นกับสำเนียง (accent) แต่ขึ้นกับการออกเสียง (pronunciation) เพราะถ้า stress ผิดที่ฝรั่งมันจะฟังเราไม่ออกทันที เช่น คำว่า technology บ้านเราพูด ‘เทค-โน-โล-จี้’ เน้นคำว่า ‘gy’ แต่จริงๆแล้วให้ออกเสียงว่า ‘เทค-โน้-โล-จิ’ เน้นคำว่า ‘no’ คำบางคำมีเป็นได้ทั้ง noun และ verb หลักทั่วไปคือ noun เน้นคำหน้า เช่น present (n. ของขวัญ) อ่าน ‘เพร้-เซนท์’ ส่วน verb ให้เน้นคำหลัง เช่น present (v. การนำเสนอ) อ่าน ‘พรี-เซ้นท์’ เช็คง่ายๆโดยการพิมพ์เข้าไปใน google translate ให้มันออกเสียงให้ หรือหาโปรแกรม e-Dictionary ดีๆ install ในเครื่องไว้ก็ช่วยได้เยอะค่ะ
  • ไม่ต้องพูดเร็ว เน้นชัดถ้อยชัดคำ: ปกติแล้วการสื่อสารมาจากพวก non-verbal (พวกภาพ ท่าทาง) ซัก 70-80% จะมีแค่ เล็กน้อยเท่านั้นที่มาจาก verbal (คำพูด) ลองนึกว่าคนที่ตรวจข้อสอบเราเขาฟังแต่เสียงที่ถูกอัดแล้วส่งข้ามน้ำข้ามทะเลผ่านอินเตอร์เน็ตมา ไม่ได้เห็นสีหน้า ท่าทาง การขยับปาก ที่ปกติแล้วเป็น component หลักที่ใช้ในการสื่อสาร ประกอบกับสำเนียงการออกเสียงที่ไม่คุ้นเคย ดังนั้นพยายามพูดให้ไม่เร็วไม่ช้าจนเกินไป เน้นชัดถ้อยชัดคำค่ะ
  • อัดเสียงตัวเองไว้ฟัง: เพราะนั่นแหละคือการ improvement ที่ดีที่สุด พอได้ฟังจะรู้เลยว่ามันเป็ดขนาดไหน เอ้ย เราจะแก้ไขตรงไหนได้

Writing [50 นาที 2 ข้อ]

ข้อแรก Integrate Writing คือการอ่าน ฟัง แล้วเขียนบรรยายความเหมือน/ต่างระหว่าง reading passage กับ lecture ที่ได้ฟัง มีเวลา 20 นาที ต้องพิมพ์ให้ได้อยู่ระหว่าง 150-225 คำ ส่วนข้อสอง Independent Writing เป็นหัวข้อให้เราเขียนว่าเห็นด้วย/ไม่เห็นด้วยพร้อมเหตุผล มีเวลา 30 นาที จัดไปให้ได้มากกว่า 300 คำ

  • ต้องมี pattern ไปก่อน: เดี๋ยวไม่ทัน พยายามใช้คำที่ไม่ซ้ำกัน เช่น The lecturer refutes by noting that… พอเขียนถึงอีกประเด็นก็เปลี่ยนเป็น The lecturer challenges the reading passage by saying that…
  • เหลือเวลาเพื่อกลับไปตรวจ grammar และคำผิด: ประมาณ 3-5 นาที ไล่อ่านเพื่อตรวจสอบ grammar และคำผิดให้เรียบร้อย (วันจริงมันจะไม่มีเส้นหยึกหยัดขีดแดงให้เรารู้ว่าผิดนะแจ๊ะ) ขั้นตอนนี้ค่อนข้างสำคัญเพราะอาจจะเก็บได้อีก 1-2 คะแนนเลยด้วยซ้ำ สำหรับคนที่ฝึกเองสามารถใช้ software ที่ช่วยตรวจคำ tense เช่น Grammarly ได้ ถ้าหาเพื่อนตรวจให้ได้จะดีมากค่ะ

จาก tips ที่แจกแจงมาก็ทำให้ป้าแก่ๆคนหนึ่งสามารถสอบได้คะแนนตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ส่วนตัวรู้ว่าค่อนข้างอ่อน Speaking ในครั้งที่แล้ว และยังมี room for improvement สำหรับ Writing เลยตั้งใจฝึก 2 parts นี้เป็นพิเศษ ข้างล่างคือคะแนนที่ได้ เทียบกับการสอบครั้งที่แล้ว

Reading Listening Speaking Writing Total Score
สอบครั้งแรก 29 30 23 27 109
สอบครั้งที่สอง 30 30 27 29 116
Improvement +1 +4 +2 +7

สุดท้ายขอให้กำลังใจคนที่อยากจะไปเรียนต่อต่างประเทศหรือกำลังจะสอบ TOEFL ทุกคน ฉันเป็นคนหนึ่งที่ไม่เคยเรียนที่ต่างประเทศหรือเรียนในโครงการ international อาศัยเก็บเล็กผสมน้อย ฝึกฝนกับข้อสอบ หาโอกาสใช้ภาษาอังกฤษ กว่าจะได้ขนาดนี้ก็ล่วงเลยมาถึงวัย 27 ปีแล้ว ก็ยังจะพยายามต่อไปเพื่อจะทำให้ฝันที่จะไปเรียนในต่างประเทศเป็นความจริงค่ะ

แอบเอาวีดีโอที่เคยไปแชร์ประสบการณ์การสอบ TOEFL มาแปะค่ะ เผื่อใครสนใจฟังเพลินๆ (คลิกดูที่ภาพได้เลย)

8 comments

  1. บทความพี่ช่วยให้คำแนะผมได้เยอะเลยครับ

  2. ขอบคุณสำหรับเรื่องที่แชร์ประสบการณ์นะคะ กำลังเตรียมตัวสอบเลย มีประโยชน์มากๆค่ะ
    ส่วนตัวเรา รู้ว่ามีข้อเสีย part listening พอจะมีวิธีฝึกให้ฟังรู้เรื่องได้ไวมั้ยคะ ตอนนี้ทำข้อสอบก็ท้อมากกับการฟัง จับใจความไม่ค่อยได้เลยค่ะ ㅠㅠ

    • ฟังบ่อยๆค่ะ ฝึกจากข้อสอบนี่แหละ ให้เวลากับมันหน่อย

  3. ขอบคุณมากเลยนะคะ บทความมีประโยชน์มาก สอบครั้งแรกเราได้ listening น้อยมาก เพราะไปสติแตกกับเสียงรบกวนรอบข้าง ปล กำลังจะสอบใหม่แล้วค่ะ

  4. มีประโยชน์มากสำหรับสอบ TOEFL

  5. ขอบคุณพี่มากๆค่ะ ที่แชร์แนวทางและประสบการณ์ซึ่งเป็นประโยชน์มากๆค่ะ
    ตอนนี้กำลังวางแผนอ่านเพื่อสอบ TOELF ibt ค่ะ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

*