คู่มือการเตรียมตัวย้ายถิ่นบินไปเรียนที่อเมริกา (ฉบับมือใหม่หัดไปเรียนนอก)

ตั้งแต่ Deposit ค่าเรียนไปในเดือนกุมภาพันธ์เป็นจำนวนเงินเกือบแสนให้ใจหายวาบ (ตอนนั้นยังไม่รู้ว่าเดี๋ยวจากนี้มีให้จ่ายอีกเยอะ) ก็มีเวลาอีก 5 เดือน เพื่อเตรียมตัวก่อนจะถึงเวลาบินจริง เพื่อทุนรอนในการไปเรียน ฉันทำงานจนถึงหยาดหยดสุดท้ายเท่าที่ทำได้ และลาออกมาเตรียมตัวแบบจริงจังก่อนบินประมาณ 2 สัปดาห์ (ได้ HR ที่บริษัทช่วยฉุดรั้งความงกไว้เลยไม่ได้ลาออกซะวันบินไปเลย)

สำหรับมือใหม่หัดไปเรียนนอกอย่างฉัน ขนาดมีเวลาขนาดนี้ยังรู้สึกไม่พร้อม ณ วันที่จะบิน เลยมานั่งเขียน blog แชร์ให้เป็นวิทยาทานสำหรับอนุชนคนรุ่นหลังค่ะ (เมิงเอาเวลาไปเตรียมให้มันพร้อมดีกว่ามั้ย)

1) หาที่พัก

ตัวอย่างห้องที่ Apartment Manager ส่งมาให้ดู

เทคนิคง่ายๆคือ ต้องเร็ว สำหรับโรงเรียนของฉันที่มีรุ่นพี่คนไทยที่เรียนอยู่กำลังจะกลับมา จะมีการส่งต่อห้องพักและเฟอร์นิเจอร์ให้รุ่นน้องที่กำลังจะมาเรียนในปีถัดไป โดยจะมีพี่คนหนึ่งรวบรวมรายละเอียดห้องพัก (ราคา รูปถ่าย คำอธิบาย) แล้วส่งอีเมลหาน้องๆ แต่ฉันดันอยู่ในระหว่างมาเยี่ยมชมอีกโรงเรียนในอเมริกา กลับไทยไปห้องพักที่ราคาถูกหน่อยโดนสอยไปหมดแล้ว ก็เลยได้ห้องพักแบบ studio ที่แพงขึ้นมานิดหน่อย แต่ก็ถือว่ายังอยู่ในราคาตลาด และทันซื้อเฟอร์นิเจอร์ต่อจากรุ่นพี่คนไทยด้วย (จะเหมาเซ็ตมาเลย แล้วแต่ว่าในห้องนั้นมีอะไร หลักๆคือ เตียง โต๊ะทำงาน เก้าอี้ ตู้เสื้อผ้า เครื่องครัว) คนที่ไม่ทันซื้อต่อจากรุ่นพี่ก็สามารถหาห้องพักจากที่โรงเรียนให้ข้อมูลมาแล้วติดต่อกับ Building/Apartment Manager โดยตรง หรือบางครั้งก็จะเห็นการประกาศหา roommate กับตามกลุ่ม Whatsapp หรือ Facebook ก็มี

รูปแบบที่พักหลักๆของที่อเมริกาก็จะมีโค้ด(ไม่)ลับเรียกกันว่า studio, 1-bedroom (ที่ต่างจากแบบ studio คือมีห้องนอนแยกกับส่วนห้องน้ำ ห้องครัว และห้องรับแขก), และ 2-bedroom (มีห้องนอน 2 ห้อง อยู่ 2 คน ต้องหา roommate) นอกนั้นยังมีพวกไปเช่าบ้านเป็นหลังๆซึ่งฉันไม่มีความรู้จึงขอข้ามไป ราคาแบบ studio ที่ฉันจองมาคือ 1,275$ ติดเป็นเงินไทยราวๆ 40,000 บาท เล่นเอาคนที่เช่าอพาร์ทเมนย่านสาทรเดือนล่ะหกพันบาทแบบฉันขอหยิบยาดมขึ้นมาทำใจแพรบ ส่วนเฟอร์นิเจอร์ฉันซื้อแบบเหมามา ราคาจะอยู่ที่ 700-1,000$ เอาจริงๆถึงจะมือสองสามสี่แต่ถือว่าถูกและสะดวกกว่าไปซื้อใหม่ประกอบเองที่นั่นมากๆ

2) ตรวจสุขภาพและฉีดยา

โรงเรียนจะให้แบบฟอร์ม Health Record มาให้เราไปหาหมอมากรอกให้ หลักๆคือยืนยันว่าเรามีประวัติการฉีดวัคซีนที่โรงเรียนต้องการครบถ้วน เทคนิคคือ ต้องหา ‘สมุดเด็กดี’ ที่เป็นประวัติการฉีดวัคซีนตั้งแต่เด็กๆให้เจอ (แม่บอกมีแต่สมุดเด็กดื้อ) และภาวนาในมันมีครบจะได้ไม่ต้องฉีดเพิ่มเยอะ ตอนไปฉีดยาควรบอกหมอว่ามีแผนจะไปเที่ยวที่ไหนบ้างระหว่างเรียนเพราะแต่ละสถานที่ก็จะมีโรคระบาดของเค้าที่เราอาจไม่มีภูมิคุ้มกัน เช่น ถ้าจะไปแถบทวีปอเมริกาใต้ต้องฉีดกันไข้เหลือง (เป็น requirement การเข้าประเทศเลยนะ เวลาไปจริงต้องเอาสมุดวัคซีนไปแสดงให้เจ้าหน้าที่ดู) ไปแถบยุโรปต้องฉีดไข้หวัดใหญ่ เป็นต้น ให้รีบไปแต่เนิ่นๆเพราะวัคซีนบางตัวอาจต้องฉีดหลายเข็ม แต่ละเข็มต้องเว้นช่วงกันระยะหนึ่ง ฉันโดนไป 13 เข็มเบาะๆ ไปหาหมอมา 3 รอบ โดนไปประมาณ 12,500 บาท เรียกได้ว่าพรุนตั้งแต่ตัวยันกระเป๋าสตางค์เลยจริงๆ

ชี้เป้าหาหมอฉีดวัคซีนเพื่อเรียนต่อต่างประเทศหรือไปท่องเที่ยวธรรมดาก็ได้ https://www.thaitravelclinic.com/ โปรดจองไปก่อนเพราะการ walk-in ไปรอคิวมันนานมั่ก

3) ทำ visa นักเรียน

อันนี้ยุ่งยากล้านแปดมาก ขอเล่าขั้นตอนคร่าวๆดังนี้

Step I [I-20]: โรงเรียนจะให้เราไปกรอกใน portal เพื่อขอเอกสารสำคัญที่เรียกว่า I-20 รายละเอียดหลักๆคือเรื่องการเงิน เราต้องหาหลักฐานว่าเราสามารถจ่ายค่าเรียนและค่ากินอยู่ (อย่างน้อยในปีแรกของการเรียน) ได้ หลังจากนั้นโรงเรียนจะส่งเอกสารตัวจริงข้ามน้ำข้ามทะเลมาให้ เราจะได้เอกสารประมาณ 1 สัปดาห์หลังจากอนุมัติ (ของเพื่อนคนหนึ่ง เจ้าหน้าเขียนประเทศผิดเป็น Tanzania ไปวนแอฟริกาใต้มาเลยจ้าา)

Step II [SEVIS Payment]: ไปจ่ายค่า SEVIS ให้เรียบร้อย 200$ (แต่รู้สึกว่าขึ้นราคาแล้วนะ) และเซฟหลักฐานการจ่ายเงินเอาไว้

Step III [DS160]: ทนรับความทรมานในการกรอกแบบฟอร์ม DS160 เพื่อขอ visa F-1 สามารถทำรอไว้เลยตั้งแต่ทำ step I อย่าลืมไปถ่ายรูปตาม requirement แล้วขอ file จากร้านถ่ายรูปมาด้วย จากนั้นก็นัดสัมภาษณ์

เนื่องจากฉันทำ visa เตรียมไว้ให้แม่ด้วย (เผื่อนางทำใจบินไกลๆได้แล้วยอมมาเยี่ยม) ข้อควรระวังคือ visa คนละประเภท สัมภาษณ์ร่วมกัน (แบบนัดเป็นกลุ่ม) ไม่ได้ และการจ่ายเงินในใบเสร็จ 1 ใบ สามารถนัดสัมภาษณ์ได้ 3 ครั้ง (เลื่อนได้ 2 ครั้ง) หรือนัดสัมภาษณ์เร่งด่วน (เฉพาะกรณี) ได้ 1 ครั้ง ประเด็นคือฉันจะขอ visa แบบ B-1/B-2 (ท่องเที่ยว) ให้แม่ โดยที่แม่ฉันพูดภาษาอังกฤษไม่คล่อง ฉันเลยอยากไปสัมภาษณ์พร้อมกันเลยนัดแบบกลุ่มไป จ่ายเงินแบบเป็นกลุ่มไปแล้ว (ได้ใบเสร็จใบเดียว) สรุปคือต้องนัดใหม่โดยใช้โควต้าอีก 2 ครั้งที่เหลือ โดยฉันไปสัมภาษณ์ก่อนแล้วออกมาวาดแผนที่เตรียมไว้ให้แม่เดินไปตามจุดต่างๆ พร้อมทั้งโทรไปเช็คกับเจ้าหน้าที่ว่าสามารถใช้ภาษาไทยในการสัมภาษณ์ได้

Step IV [Visa Interview]: ถึงวันจริงก็ขึ้นวินมอเตอร์ไซค์ไปสัมภาษณ์ก่อนเวลานัดครึ่งชั่วโมง นั่งรอยืนรออยู่เกือบ 2 ชั่วโมง เงี่ยหูฟังคนอื่นที่เค้าไปเรียนเหมือนกันว่าถูกถามอะไรบ้าง แต่ละคนมีเกิน 5 นาทีแน่นอน ไปเรียนเมืองไหน รู้จักคณะนี้ได้ยังไง จบมาจะทำอะไร ใครจ่าย บลาๆ ด้วยความตื่นเต้น ฉันก็ซ้อมคำตอบในหัวพร้อมหาหลักฐานเตรียมไว้อย่างดี

ถึงคิวสัมภาษณ์
เจ้าหน้าที่: What will you study in the U.S.?
เจน: MBA
เจ้าหน้าที่: [คีย์แกร๊กๆ ในขณะที่ซ้อมตอบคำถามในหัวไว้ด้วยความตื่นเต้น เจ้าหน้าที่ก็งึมงำออกมาเบาๆเหมือนบ่นกะตัวเอง] you’re all set.

แล้วก็ลุกออกจากเก้าอี้ ปิดม่านใส่เฉ้ย ฉันยืนเคว้งอยู่หน้าบูธสัมภาษณ์ หันไปสบตากับคนที่ต่อแถวอยู่แล้วก็เดินงงๆออกมาว่าตกลงกุได้ visa ป้ะเนี่ย เห้ย ขึ้นตื่นแต่เช้า แว๊น 70 บาทมาถานฑูตเพื่อพูดแค่สามพยางค์ คือเหงาไปไหมอ่ะ

เทคนิคที่ได้จากการขอ visa คือ ไม่ต้องไปรอแต่เช้า ไปพอดีเวลาก็พอนะจ้ะ

4) ซื้อตั๋วเครื่องบิน & วางแผนท่องเที่ยว

พอรู้วันลาออกแน่นอนกับวันเปิดเรียนแล้วฉันก็ซื้อตั๋วเลย ไม่ได้รอ visa เพราะมั่นใจว่ามันต้องได้สิ 555 ในเรื่องนี้แล้วแต่ความสะดวกเรื่องเวลาบินกับราคาของแต่ละคน แต่ถ้ามาถึงดึกมากๆควรจะประสานงานกับอพาร์ทเมนท์ให้ดีว่าจะไปถึงเวลานี้จะทำยังไง (มีน้องคนหนึ่งไปถึงดึกแล้วเข้าที่พักไม่ได้ต้องหาที่นอนฉุกละหุกในคืนนั้น) อยากแชร์ข้อมูลว่าตั๋วแบบ one-way นั้นแพงเพียงใด ฉันสอยตั๋วของ Qatar Airways มาในราคา 28,000 บาท ในขณะที่คุณสำลี บินไปส่ง(เที่ยว)แล้วบินกลับไทยอยู่ที่ 33,000 บาท ช็อคคคคค

วุ่นวายหนักเข้าไปใหญ่ เพราะฉันจะไป road trip ฝั่ง east coast ด้วย เลยต้องวางแผนจัดทริปการเที่ยว รวมถึง logistic ต่างๆ เช่น กระเป๋าและข้าวของที่แบกเป็นจะเอาไว้ที่ไหนก่อนไปเที่ยว เพราะได้เรียนรู้ negotiation skill ไปแล้วตอนต่อรองเรื่องทุน ครั้งนี้ฉันเลยไปต่อรอง Apartment Manager ขอเข้าพักก่อน 3 วันก่อนเริ่มสัญญา หุหุ เนื่องจากเกี่ยวพันหลายอย่างกับการเตรียมตัวเรื่องอื่นๆ ทำให้แผนท่องเที่ยวฉบับนี้ทำไป 5 เดือน นานที่สุดในประวัติศาสตร์ของ ‘เจนไกด์เถื่อน ชะโงกทัวร์’ ทำเอาลูกทริปอย่างคุณสำลีเหน็บแหนมมาเป็นระยะว่าเมื่อไหร่จะเสร็จจจ

5) วางแผนเรื่องการเงิน

เรื่องนี้เป็นที่ปวดกระบาลที่มีเนื้อสมองน้อยของฉันมาก หลังจากสอบถามและหาข้อมูลมาเนิ่นนาน ขอสรุปดังนี้

เงินโอนค่าเล่าเรียนและที่พัก: เนื่องจากเป็นก้อนใหญ่ ยังไงก็ต้องในคนทางนี้โอนไปหลังจากเราสามารถเปิดบัญชีได้ จากการไปศึกษา ณ มิถุนายน 2019 ตอนนี้โอนผ่านธนาคารกรุงเทพคุ้มสุด

ธนาคาร SCB BBL KBANK BAY KTB
ค่าธรรมเนียมการโอน 1,350 1,150 1,300 1,300 1,200
ค่าธรรมเนียมชดเชยอัตราแลกเปลี่ยน 0.25% ของจำนวนเงินโอนออก

เลยจัดการไป download แบบฟอร์มการโอนออกมาจากเว็บแล้วกรอกรอไว้ให้แม่ รวมถึงโทรไปสอบถามสาขาและเวลาที่ทำการโอนได้กับเจ้าหน้าที่

เงินค่าใช้จ่ายส่วนตัว: อันนี้ฉันสมัคร KTB Travel Card ไว้รูดเป็นบัตรเดบิตตามคำเพื่อนแนะนำ ประโยชน์คือได้ exchange rate ที่ดี (สามารถแลกเก็บไว้ได้) และสามารถกดเงินสดได้ทีละ 50,000 บาท โดยมีค่าธรรมเนียมในการกดประมาณ 6$ (ธนาคารต้นทาง 3$ ปลายทางอีกประมาณ 2-3$)

เงินสดติดตัวไปใช้ก่อนเปิดบัญชี: เนื่องจากเราจะต้องใช้เวลาซักพักกว่าจะเปิดบัญชีให้ทางเมืองไทยโอนไปได้เลยต้องมีเงินติดตัวพอประทังชีพไปก่อน จำนวนเงินสูงสุดที่นำเข้าประเทศอเมริกาได้คือ 10,000$ หรือประมาณ 300,000 บาท ถ้าไม่อยากเสี่ยงเอาเงินสดไปจะทำเป็นแคชเชียร์เช็คไปก็ได้ สายเงินสดเชิญแลกที่ Superrich โดยอย่าลืมโทรไปจองเงินก่อนหากจะแลกจำนวนมาก

อย่าลืม ensure เรื่องความสะดวกในการทำทะลุกรรม(ธุรกรรม มันคือมุกกก) ด้วยบัญชีที่ประเทศไทย พวก mobile banking ของแบงค์ต่างๆ ต้องศึกษาให้แจ่มทะลุทะลวง แบงค์ไหนโอนยังไง รวมถึงซื้อกองทุนต่างๆผ่าน Internet เพราะเดี๋ยวเราจะไม่สามารถไปที่ธนาคารด้วยตัวเองเหมือนตอนอยู่เมืองไทยแล้ว

7) จัดกระเป๋า

ขอแบ่งมหากาพย์การจัดของเพื่อขนย้ายข้ามประเทศเป็นหมวดหมู่ดังนี้

  • กระเป๋า: เนื่องจากเราจะเที่ยวบ่อย ฉันเลยเอาไปทุกไซส์ ใหญ่ (ขนของข้ามประเทศ) กลาง (ทริป 5-6 วัน) เล็ก (แบบ carry-on ขึ้นเครื่องได้เหมาะกับทริป 2-3 วัน) กระเป๋า backpack (เผื่อไป hiking แบบข้ามวัน) กระเป๋าเป้ไว้ไปเรียน กระเป๋าสะพายใบเล็กเวลาไป party
  • เสื้อผ้าและรองเท้า: แบ่งเป็นหมวดชุดในชีวิตประจำวัน (ซึ่งไม่ได้เอาไปเยอะเพราะมีแต่เสื้อผ้าหน้าร้อน) ชุดเดรส (ไปงานเป็นทางการ) ชุดทำงานและสูท (ไว้สมัครงาน) ชุดออกกำลังกาย อุปกรณ์กันหนาว (ขนไปทุกอย่างที่มีในชีวิต) ชุดชั้นใน (ถ้าเป็นผู้หญิงตัวเล็กอาจจะต้องซื้อเผื่อไปเพราะคนที่โน่นตัวใหญ่) ชุดไทย (อันนี้เขินเพื่อนมาก แต่ติดไปเผื่อไปรวมกิจกรรม 555)
  • ยา: สำคัญมากเพราะที่อเมริกาไม่สามารถหาซื้อยาได้ง่ายเหมือนที่ไทย ที่ควรเอาไปเช่น ยาโรคประจำตัวพร้อมใบรับรองแพทย์ (ของฉันเป็นกระเพาะปัสสาวะอักเสบที่ต้องกิน antibiotic ทีเป็นแผงๆ เอาไปรวมกับเป็น 100 เม็ดอยู่เลยต้องขอใบรับรองแพทย์ไปด้วย) กลุ่มยาทาแผล กลุ่มระบบขับถ่าย (ท้องเสีย/ท้องผูก/ท้องอืด) กลุ่มแก้หวัด (แก้ปวดลดไข้/แก้แพ้/ยาฆ่าเชื้อ) กลุ่มปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ (ยาคลายกล้ามเนื้อ/counterpain) นอกจากนี้ก็อาจมียาแก้ปวดประจำเดือน แก้ร้อนใน ยานอนหลับ (เอาไว้ปรับเวลาตอนแรกๆ)
  • อาหารแห้ง: พวกผงปรุงรสและอาหารแห้งต่างๆไว้เวลาคิดถึงอาหารไทย (เห็นบอกมีขายที่นั่นแต่เอาไปกันเหนียว)
  • อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ + charger: ได้แก่ คอมพิวเตอร์ กล้องถ่ายรูป ลำโพง หูฟัง มือถือ harddrive
  • เอกสารสำคัญและอุปกรณ์เครื่องเขียน
  • อื่นๆ: ผ้าอนามัย (เพื่อนบอกว่าที่โน่นมีแต่แบบสอดซึ่งคนไทยใช้ไม่เป็น) เครื่องสำอางแบรนด์เอเชียที่ต้องใช้และอาจไม่มีขายที่โน่น อุปกรณ์อาบน้ำแบบเล็กๆและผ้าขนหนู (เดี๋ยวไม่มีไว้อาบน้ำวันแรกๆที่ไป) ตุ๊กตาที่จำเป็น (จะสามสิบแล้วยังติดตุ๊กตา 5555)

เพื่อเป็นแนวทางนะคะ อาจจะดูหอบไปเยอะนิดนุง แต่หลายๆเพราะมีอยู่ที่ไทยแล้วเลยไม่อยากเสียเงินเสียเวลาไปหาซื้อใหม่ (งกนั่นเอง แหะๆ)

8) อื่นๆ

โทรศัพท์: เนื่องจากธุรกรรมบางอย่างจะส่ง SMS มายังเบอร์ที่ใช้ในประเทศไทย ฉันเลยใช้โปรโมชันแบบ maintain เบอร์และรับ SMS ฟรี โดยการเปิด roaming เอา ลองไปสอบถามตามเครือข่ายมือถือที่ใช้อยู่ได้เลย

ภาษีและเอกสารอื่นๆจากที่ทำงานเก่า: คำนวณภาษีและซื้อ LTF เตรียมไว้ก่อนไป อย่าลืมจด contact เพื่อติดต่อ HR ในการรับทวิ50 ด้วยจ้า

ทำการบ้านและงานล้านแปดที่โรงเรียนจัดให้: อันนี้เรียกว่างานงอกของจริง ให้เตรียมเวลาไว้ด้วยในการทำการบ้านและงานล้านแปดที่โรงเรียนสั่งมา เช่น ทำ pre-enrollment courses, self-assessment, update resume, update LinkedIn profile ฯลฯ จุดนี้ทำให้ฉันคิดว่าที่ลาออกมาเตรียมตัว 2 สัปดาห์นั้น มันไม่ทันเอาเสียเลย

 

ขนาดจะบินอยู่อีกไม่กี่ชั่วโมงแบบนี้ยังรู้สึกไม่พร้อมเอามากๆ คิดห่วงพะวง ใจนึงอยากไปตามฝันใจนึงไม่อยากจากบ้าน เป็นกำลังใจให้เจนบินไปเรียนอย่างราบรื่นด้วยนะคะ สู้วววววว อิอิ

2 comments

  1. ชอบมากเลยค่ะ พี่เจน เป็นประโยชน์มากค่ะ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

*